วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

กล้วยตัดใบ

โอชารส" กล้วยพื้นบ้านใบใหญ่ ชาวบางสะพานปลูกไว้ขายใบตองในช่วงเทศกาลลอยกระทงที่ผ่านมา "ใบตอง" ก็ยังคงเป็นวัตถุดิบสำคัญในการประดิษฐ์กระทงใบสวยของคนไทย ตกแต่งเป็นกลีบงามเข้ากับหยวกกล้วย บ้างพับเรียงเป็นบายศรีขนาดเหมาะ แม้ว่ากระทงที่ทำจากขนมปัง ใบลาน หรือเปลือกข้าวโพดจะเข้ามาเป็นตัวเลือกมากขึ้น เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แต่กระทงที่งดงามในใจของผู้เขียนก็ยังเป็นกระทงที่ทำจากใบตองไม่เสื่อมคลายอาจเพราะความคุ้นเคยแต่วัยเยาว์ของการใช้ใบตองในวิถีไทย จึงเห็นว่ากระทงใบตองมีเสน่ห์ ไม่แตกต่างจากการใช้ใบตองในการอื่นๆ เมื่ออดีต เช่น การใช้ใบตองห่อขนมต่างๆ ใช้ห่อข้าวต้มมัด ห่อแหนม หมูยอ ห่อปลาทู หรือทำห่อหมก สร้างเอกลักษณ์ของอาหารไทยได้อย่างดี กับเรื่องอาหารการกินนี้คนไทยยังให้ความสำคัญกับใบตองถึงปัจจุบันอย่างน่าชื่นใจใบตองที่นิยมใช้กันมากคือ ใบตองตานี มีลักษณะใบที่สวยงาม ใบยาว สีเขียวเข้ม และทนทานไม่แตกง่าย ปลูกมากในจังหวัดสุโขทัย หรือหากลงใต้มาก็ปลูกกันมากที่ชุมพร แต่ที่ประจวบคีรีขันธ์ไม่ไกลกับชุมพรนั้น ก็มีใบตองที่ชาวบ้านนิยมเช่นเดียวกัน ...ไม่ใช่กล้วยตานี แต่เป็นใบตองกล้วยพื้นบ้านที่ชาวบ้านเรียกกันว่า กล้วย "โอชารส" มีลักษณะใบค่อนข้างหนา สีเขียวสด และมีใบที่ใหญ่มาก คุณสุชาติ เชื้อพราน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ตำบลพงศ์ประศาสน์ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บอกถึงกล้วยโอชารสว่า เป็นกล้วยพื้นบ้านที่ชาวบ้านนิยมปลูกเพื่อตัดใบขายเป็นหลักมานาน เนื่องจากมีใบใหญ่ หนา ต่างจากกล้วยใบตองทั่วไป น้ำหนักดี ทน เหนียว ไม่แตกง่าย ปลูกได้ดีในพื้นที่ แตกหน่อได้ง่าย ชาวบ้านนิยมปลูกแซมในสวนมะพร้าว ซึ่งผู้ใหญ่สุชาติเองก็ปลูกไว้เป็นรายได้เสริมในสวนผสมผสาน ที่มีทั้งมะพร้าวและไม้ผล บนพื้นที่ 10 ไร่ ของเขาเช่นเดียวกัน "ผมก็ไม่รู้ว่าที่อื่นเขาเรียกว่ากล้วยอะไรนะ แต่ที่ปลูกกันมานานแล้ว จะมีแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ ขายเป็นใบตองได้กิโลกรัมละ 6 บาท แต่ไม่ค่อยมีหัวปลีนะ ส่วนผลมันจะเอามาทำเป็นขนมกล้วยโขลก บางคนก็เอาไปทำกล้วยปิ้งแต่ไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่ เพราะมีกล้วยอื่นที่รสชาติดีกว่า ส่วนใหญ่จะเอาผลไปใช้ทำอาหารหมู อาหารวัว" ผู้ใหญ่เล่าแต่เมื่อผู้เขียนสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกล้วยพันธุ์โอชารสนี้ ก็ไม่พบและไม่น่าจะเป็นพันธุ์ใหม่ สอบถามกับ คุณพานิชย์ ยศปัญญา หัวหน้ากองบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้าน ก็ยังงุนงง ด้วยชื่อไม่คุ้นเลยสักนิด กระทั่งดูภาพถ่ายของผลและลักษณะต้น คุณพานิชย์ก็บอกเลยว่าเป็นกล้วยพันธุ์เดียวกับกล้วย "เทพรส" หากแต่มีลักษณะใบใหญ่ หนา เป็นพิเศษ ซึ่งอาจมาจากคุณภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อเปรียบเทียบลักษณะของกล้วยเทพรส กับกล้วยโอชารส จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่สุชาติก็ใกล้เคียงกันมาก กล่าวคือ มีลำต้นสูง ใบใหญ่ กาบลำต้นสีเขียว ท้องใบมีนวล ผลขนาดใหญ่เป็นเหลี่ยมค่อนข้างยาว บางทีมีดอกเพศผู้หรือปลี บางทีไม่มี ถ้าหากไม่มีดอกเพศผู้ จะไม่เห็นปลี การมีปลีและไม่มีปลีนี้เกิดจากการกลายพันธุ์แบบกลับไปกลับมาได้ ในสมัยโบราณเรียกกล้วยเทพรสที่มีปลีว่า กล้วย "ทิพรส" จึงอาจกล่าวได้ว่า กล้วยโอชารส ก็คือชื่อพื้นบ้านอีกชื่อของกล้วยเทพรสนั่นเองกลับมาที่ชาวบางสะพานที่สร้างรายได้เสริมจากกล้วยใบใหญ่นี้กันต่อ ผู้ใหญ่สุชาติ บอกว่า หากนำหน่อกล้วยไปลงปลูกในพื้นที่ปลูกใหม่ แนะนำให้ปลูกห่างระหว่างต้น 1.5 เมตร แต่ไม่ควรปลูกในพื้นที่ที่เป็นดินทราย เมื่อลงปลูกแล้วก็ให้เทวดาเลี้ยงได้เลย เมื่อกล้วยอายุ 6 เดือน ก็สามารถตัดใบส่งจำหน่ายได้แล้ว แต่หากเป็นต้นใหม่จากกอเดิมต้องรอประมาณ 1 ปี จึงจะตัดได้ และสามารถตัดขายได้ตลอดทั้งปี หากหมดอายุหรือครบ 1 ปี ก็สามารถตัดลำต้นหรือหยวกกล้วยขายเพื่อเป็นอาหารสัตว์ได้อีก ทุกวันนี้เขาตัดใบขายมานานถึง 40 ปีแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องปรับพื้นที่ปลูกใหม่เลย เพราะกล้วยแตกหน่อใหม่ขึ้นมาทดแทนเองตลอดส่วนวิธีการตัดใบตองของชาวบ้านที่นี่ ไม่ยุ่งยาก ใช้มีดปลายแหลมเสียบกับลำไผ่ขนาดยาวให้แน่น และเลือกตัดเฉพาะ 3 ใบล่าง หากเป็นช่วงหน้าฝน กล้วยได้น้ำดีเว้นระยะเวลาไป 15 วัน ก็สามารถกลับมาตัดซ้ำต้นเดิมได้อีก แต่หากเป็นช่วงหน้าแล้งต้องเป็นเดือน จึงจะตัดใบซ้ำต้นเดิมได้ ผู้ใหญ่สุชาติ บอกต่อว่า เขาเองตัดใบกล้วยขายทุกวัน วันละประมาณ 200 กิโลกรัม โดยตัดในเวลา 8 โมงเช้า เป็นต้นไปเพื่อให้น้ำค้างแห้งเสียก่อน ใบที่ตัดแล้วนั้นจะต้องนำมากรีดเอาทางใบออกเหลือแต่ใบตอง พับเตรียมจำหน่ายให้แม่ค้าเป็นมัด มัดละ 18 กิโลกรัม หรือราวๆ 60 ทางใบกล้วย แล้วแม่ค้าจะเข้ามารับซื้อสัปดาห์ละ 2 ครั้งนอกจากนี้ ใบตองแห้งที่เหี่ยวคาต้นหรือร่วงหล่นลงพื้นนั้นก็ยังเก็บไปขายเพื่อนำไปเป็นจุกข้าวหลามได้อีก กิโลกรัมละ 5 บาท หรือจะขุดหน่อขายก็ได้หน่อละ 7 บาท สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับผู้ใหญ่สุชาติประมาณเดือนละ 6,000-7,000 บาท โดยไม่มีต้นทุนค่าแรงงาน หรือปุ๋ยแต่อย่างใด เพราะปลูกเอง ตัดเอง มัดเอง และแบกขายด้วยตนเองสอบถามด้านการตลาดของใบตองกล้วยโอชารสกับ คุณอุบล แสงงาม แม่ค้าชาวบางสะพาน ผู้รับซื้อใบตองรายใหญ่ของชาวบ้านมานานกว่า 6 ปี เธอบอกว่า ใบตองนี้เป็นที่ต้องการของตลาดทับสะแก อ่าวมะนาว แต่รวมแล้วตลาดหลักก็มีเพียงในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นี้เท่านั้น เพราะเป็นที่รู้จักของชาวบ้าน นิยมนำไปใช้รองเข่งขนมจีน ใช้ทำห่อหมก ห่อขนม ห่ออาหารนึ่ง ย่าง เพราะให้กลิ่นหอมเพิ่มรสชาติ โดยมีปริมาณการรับซื้อเฉลี่ยเดือนละประมาณ 1.2 ตัน ต่อเดือน แต่หากเป็นช่วงเทศกาลลอยกระทง ตรุษจีน หรือในช่วงหน้าแล้ง ใบตองจะเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ยอดส่งจำหน่ายสูงขึ้นเป็น 1.8 ตัน ต่อเดือน การส่งจำหน่ายใบตองกล้วยโอชารสของแม่ค้ารายนี้แบ่งเป็นสองประเภท คือ ขายส่งแบบคละเกรด มัดละ 9 บาท ราคาเดียว แม้ช่วงไหนของจะขาด โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งที่ใบตองหายากแต่ขายดีก็ยังส่งราคานี้ ส่วนอีกประเภทคือ ใบตองคัดเกรด เลือกเฉพาะใบใหญ่ นิยมใช้ทำบายศรีและผ่านการฉีกตัดแล้ว จำหน่ายกิโลกรัมละ 15 บาท ราคาเดียวทั้งปีเช่นกัน แต่สำหรับตลาดต่างถิ่น แม่ค้าอุบล บอกว่า ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร เพราะคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ใบใหญ่ หนา สีเขียวเข้มขนาดนี้ ดูแข็งเกินไป จะทำให้อาหารที่ถูกห่อมีรสขม หรือกลายเป็นสีดำ แต่เธอก็ปฏิเสธว่าเป็นเช่นนั้น เพราะคนประจวบฯ เองจะรู้ว่าไม่มีผล มีแต่จะส่งกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์มากกว่า ทุกวันนี้ในฐานะที่เธอเป็นคนท้องถิ่นและประกอบอาชีพแม่ค้าขายใบตองกล้วยโอชารสร่วมกับการทำสวน ก็ยังหวังให้ใบตองท้องถิ่นเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยพยายามหาตลาดต่างถิ่นมากขึ้น รวมถึงส่งมาให้ลูกค้าลองใช้แบบฟรีๆ ก่อนถึงกรุงเทพฯ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนชาวบางสะพานสนใจรายละเอียดติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ใหญ่สุชาติ โทร. (08) 4316-5245ั้หรือ คุณอุบล โทร. (083) 313-8130เกษตรกรบางสะพาน มีบำนาญในปลายชีวิตคุณยุวพล วัตถุ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า จากการตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทาง ธ.ก.ส. สาขาบางสะพาน จึงมีการรณรงค์ให้ชาวบ้านสานต่อโครงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ 1 ล้านครัวเรือน 9 ล้านต้น ที่ ธ.ก.ส. ดำเนินการมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 โดยสนับสนุนให้มีการก่อตั้งธนาคารต้นไม้ ให้ชาวบ้านช่วยกันเพาะพันธุ์กล้าไม้หลากชนิด เช่น ตะเคียนทอง ยางนา มะฮอกกานี มะยมหอม มะค่า พะยูง และพันธุ์ไม้ท้องถิ่น รวมถึงขอการสนับสุนนพันธุ์กล้าไม้จากศูนย์เพาะชำกล้าไม้ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากทั้งนี้ ต้นไม้ที่เกษตรกรนำไปปลูกนั้น ก็คือ การเก็บออมในรูปแบบหนึ่ง หรือถือเป็นบำนาญไว้ใช้ในอีก 20 ปีข้างหน้าก็ได้ เนื่องจากไม้ดังกล่าวจะเติบใหญ่จนสามารถตัดจำหน่ายได้ในยามที่เกษตรกรถึงวัยปลดเกษียณ ซึ่งคาดว่า ต้นไม้ที่ส่งเสริมให้ปลูกนั้นเมื่อมีอายุครบ 20 ปี จะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 20,000 บาท "นับเป็นอีกวิธีที่จะสร้างความสุขให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ในบั้นปลายชีวิต ส่วนกรณีที่เกษตรกรใดมีอายุมากแล้ว ก็สามารถปลูกต้นไม้โตเร็ว เช่น กระถินเทพา สะเดาช้าง เพราะสามารถตัดขายในระยะเวลา 5 -10 ปี เกษตรกรอยากมีเงินบำนาญเท่าไหร่ก็วางแผนได้ตามอายุของตนเอง แต่ต้องเริ่มปลูกตั้งแต่วันนี้ คุณยุวพล กล่าว

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เห็ดแครง

เห็ดแครง เป็นเห็ดที่ขึ้นอยู่ทั่วโลกและงอกได้ตลอดปี พบขึ้นอยู่กับวัสดุหลายชนิด เช่น ท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ใบหญ้า กระดาษ หรือแม้แต่บนกระดูกปลาวาฬก็พบเห็ดชนิดนี้ขึ้นอยู่ แต่ที่พบเป็นปริมาณมากสามารถเก็บรวบรวมเห็ดมารับประทานได้คือ บนท่อนไม้และกิ่งไม้ ในภาคใต้ของไทยพบมากบนท่อนไม้ยางพารา ต้นยางพาราที่ตัดโค่นไว้เมื่อท่อนไม้ตายและมีฝนตกก็พบเห็ดแครงขึ้นเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีการใช้ยาฆ่าตอต้นยางเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านบอกว่าเห็ดแครงที่เก็บรวบรวมมาจากตอยางเมื่อรับประทานแล้วมีอาการคันปาก และสงสัยว่าเกิดจากพิษของยาฆ่าตอยาง ตอนนี้ยังไม่มีการศึกษายืนยันแต่ควรหลีกเลี่ยงเก็บเห็ดจากตอยางที่ใช้ยาฆ่าตอ

Schizophyllum commune Fr.
-
เห็ดแครง
-
เห็ดตีนตุ๊กแก เห็ดจิก เห็ดยาง (ภาคใต้) เห็ดแก้น เห็ดตามอม (ภาคเหนือ) เห็ดมะม่วง (ภาคกลาง)

เห็ดแครงเป็นเห็ดขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายพัด (fan-shaped) ด้านฐานมีก้านขนาดสั้นๆ ยาวประมาณ 0.1- 0.5 เซนติเมตร หรือไม่มีก้านติดอยู่กับวัสดุที่ขึ้นด้านข้าง ดอกเห็ดมีขนาดความกว้าง ประมาณ 1-3 เซนติเมตร ผิวด้านบนมีสีขาวปนเทาปกคลุมทั่วไป ลักษณะดอกเหนียวและแข็งแรง เมื่อแห้งด้านใต้ของดอกเห็ดมีครีบมีลักษณะแตกเป็นร่อง (spilt-gill) พิมพ์สปอร์มีสีขาว สปอร์มีสีใสรูปร่างเป็นทรงกระบอกขนาด 3-4x1-1.5 ไมครอน เนื่องจากเห็ดแครงมีขึ้นอยู่ทั่วโลก ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ลักษณะดอกเห็ดอาจแตกต่างกันในแต่ละท้องที่

เห็ดแครงเป็นเห็ดที่เพาะปลูกได้ง่ายมากชนิดหนึ่ง สามารถใช้วัสดุในการเพาะหลายชนิด ขั้นตอนในการเพาะเลี้ยงเห็ดแครงจะเหมือนกับเห็ดชนิดอื่นๆ ยกเว้นสูตรอาหารและเทคนิคการเพาะ การดูแล ซึ่งต่างไปบ้าง เนื่องจากมีธาตุอาหารสูงจึงต้องปฏิบัติให้ถูก หากไม่มีจะทำให้เห็ดเกิดการปนเปื้อนเชื้อราอื่นได้สูง เป็นสาเหตุให้ผลผลิตเสียหาย สำหรับแม่เชื้อเห็ดแครงที่บริสุทธิ์แนะนำให้สั่งซื้อจากศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร เพราะได้ทำการคัดเลือกสายพันธุ์มาแล้วว่าให้ลักษณะดอกดี มีขนาดใหญ่ และให้ผลผลิตสูง เมื่อได้ แม่เชื้อมาแล้วก็นำมาทำเชื้อขยายในเมล็ดข้าวฟ่าง ซึ่งมีวิธีการเตรียมวัสดุเพาะเหมือนเห็ดชนิดอื่นๆ

: การเพาะเห็ดแครงมีขั้นตอนต่างๆ เหมือนการเพาะเห็ดถุงทั่วไป

การทำหัวเชื้อเห็ด เห็ดแครงสามารถทำหัวเชื้อได้บนเมล็ดข้าวฟ่างเหมือนกับทำหัวเชื้ออื่นๆ โดยแช่เมล็ดข้าวฟ่างในน้ำทิ้งไว้ 1 คืน นำไปต้มไฟปานกลางเมื่อเมล็ดข้าวฟ่างเริ่มนุ่ม นำขึ้นสรงให้สะเด็ดน้ำบนตะแกรง เมื่อเย็นกรอกใส่ขวดแบน จากนั้นปิดจุกสำลี นำไปนึ่งความดัน โดยใช้ความร้อน 121 องศาเซลเซียส ความดัน 15 ปอนด์ ใช้เวลา 30 นาที จากนั้นทิ้งไว้ให้เย็น แล้วตัดเส้นใยจากแม่เชื้อในอาหารวุ้น ถ่ายลงไปด้วยเข็มเขี่ยในสภาพปลอดเชื้อ บ่มเส้นในที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 7-10 วัน ก็นำไปถ่ายลงวัสดุเพาะได้
การเตรียมวัสดุเพาะ นำเมล็ดข้าวฟ่างแช่ในน้ำทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นเทน้ำทิ้งเปลี่ยนน้ำใหม่ต้มให้เดือด จนเมล็ดข้าวฟ่างค่อนข้างสุก แล้วรินน้ำทิ้ง พักไว้ให้เย็นหมาดๆระหว่างนี้ให้ผสมขี้เลื่อย ปูนขาวและรำเข้าด้วยกันก่อน จากนั้นจึงผสมน้ำลงไป (หากผสมพร้อมกันหมด รำจะจับติดเป็นก้อน) เมื่อผสมเข้ากันดีแล้ว จึงนำเมล็ดข้าวฟ่างที่เตรียมไว้มาผสมอีกที จากนั้นกรอกใส่ถุงพลาสติก ขนาด 6x10 นิ้ว ให้มีน้ำหนัก 600 กรัม ใส่คอขวด รัดยาง และปิดสำลีแล้วปิดด้วยฝาปิด จากนั้นนำไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดัน 15 ปอนด์ เป็นเวลา 30 นาที หรือ นึ่งด้วยหม้อนึ่งลูกทุ่ง อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ได้เวลาแล้วพักไว้ให้เย็น จึงรีบใส่เชื้อในเมล็ดข้าวฟ่างที่เตรียมไว้ทันที พยายามอย่าทิ้งถุงไว้เกิน 24 ชั่วโมง จะทำให้การปนเปื้อนสูง
การพักบ่มเส้นใย โรงเรือนสำหรับพักบ่มเส้นใย ควรเป็นโรงเรือนในร่ม ที่มีการระบายอากาศดี และข้อสำคัญควรเป็นที่มืด (ขนาดที่อ่านหนังสือพิมพ์ไม่เห็นในระยะ 1 ฟุต ตรงนี้เป็นเทคนิคที่ค่อนข้างจะปฏิบัติได้ยากแต่จะต้องพยายามทำให้มืดที่สุด) เส้นใยจะเจริญเต็มถุงในเวลา 15 – 20 วัน ที่อุณหภูมิระหว่าง 25 – 35 องศาเซลเซียส ซึ่งหลังจากเส้นใยเต็มถุง จึงให้แสงในโรงบ่ม แสงจะกระตุ้นให้เห็ดสร้างตุ่มดอก จะสังเกตเส้นใยเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จึงนำไปเปิดดอก โดยดึงจุกสำลีและคอขวดด้านบนออก ใช้ยางรัดปิดปากถุงให้แน่น แล้วกรีดด้านข้างให้เป็นมุมเฉียงจากบนลงล่างทั้ง 4 มุมของถุง แล้วนำไปวางบนชั้นหรือแขวนในโรงเรือน
โรงเรือนเปิดดอก โรงเรือนเปิดดอกจะใกล้เคียงกับโรงเรือนเปิดดอกของเห็ดหูหนู การรดน้ำควรจะติดระบบสปริงเกอร์ ให้น้ำเช้าและเย็น หากรดน้ำด้วยมือจะต้องใช้หัวฉีดพ่นฝอย มิฉะนั้นก้อนเห็ดจะดูดน้ำเข้าไปทำให้ก้อนเชื้อเสียและปนเปื้อนจุลินทรีย์อื่น การวางก้อนเชื้อจะต้องวางตั้งบนชั้นหรือแขวนแบบเห็ดหูหนู หลังจาก กรีดข้างถุงและรดน้ำเห็ดไปประมาณ 5 วัน จะเก็บผลผลิตรุ่นที่ 1 ได้ หลังจากนั้นเห็ดจะพักตัวอีก 5-7 วัน รดน้ำเป็นปกติ ก็จะเก็บรุ่นที่ 2 และ3 ตามลำดับ ซึ่งผลผลิตก็จะหมดให้ขนก้อนเก่าไปทิ้ง และพักโรงเรือน ให้แห้งเป็นเวลา 15 วัน จึงนำถุงเห็ดรุ่นใหม่ เข้าเปิดดอกต่อไป

โรคในเห็ดแครงจะพบการปนเปื้อนจาก ราเขียว และราส้ม เนื่องจากวัสดุเพาะมีธาตุอาหารสูงจึงเกิดการปนเปื้อนได้ง่าย

เนื่องจากเห็ดแครงเป็นเห็ดที่มีแร่ธาตุอาหารต่างๆ เป็นอาหารบำรุงร่างกายทำให้สุขภาพดี อีกทั้งมีสาร Schizophyllan ที่มีสรรพคุณในด้านการรักษาโรคต่างๆมากมาย เห็ดแครงสามารถปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น นำมาเจียวกับไข่ แกงกะทิ ห่อหมก งบเห็ดแครง ในประเทศจีนมีการแนะนำให้คนไข้ที่เป็นโรคระดูขาว รับประทานเห็ดแครงที่ปรุงกับไข่เพื่อรักษาโรค และรับประทานร่วมกับใบชาโดยต้มเห็ดแครง 9 – 16 กรัม กับน้ำกินวันละประมาณ 3 ครั้ง ใช้เป็นอาหารบำรุงร่างกาย ในประเทศญี่ปุ่นใช้เป็นยาเนื่องจาก พบสารประกอบพวก polysaccharide ชื่อว่า Schizophyllan (1,3 B-glucan) ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อไวรัสและยับยั้งเซลมะเร็งชนิด Sarcoma 180 และ Sarcoma 37 โดยทดลองใน หนูขาวยับยั้งได้ร้อยละ 70 – 100

คุณค่าทางโภชนาการ :

เห็ดแครง 100 กรัม ให้ โปรตีน 17.0 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม แคลเซียม 90 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 280 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 640 มิลลิกรัม