วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การเพาะเห็ดฟางโดยใช้ทะลายปาล์มน้ำมัน

ปาล์มน้ำมันพืชเศรษฐกิจของ จ.กระบี่ ที่วันนี้ไม่ใช่มีราคาแค่เมล็ดเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมีส่วนอื่นๆ ของปาล์มที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพิ่มมูลค่าให้แก่เกษตรกรเจ้าของสวนปาล์มได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะทะลายปาล์ม ที่เมื่อก่อนมองดูเป็นสิ่งที่ไร้ค่า แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นสิ่งที่มีราคา เป็นที่ต้องการของเกษตรกรที่ยึดอาชีพเพาะเห็ดฟางอย่างมาก
หลังจากที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก) จ.กระบี่ ร่วมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ จัดหลักสูตรอบรมการใช้ประโยชน์จากปาล์มน้ำมันแก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ภายใต้โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เข้าถึงองค์ความรู้และจัดการเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
สฤษดิ์ วิเศษมาก เกษตรกรชาวสวนปาล์ม วัย 30 ปีเศษ อยู่บ้านเลขที่ 100 หมู่ 5 ต.โคกยาง อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ หนึ่งในผู้สำเร็จจากการอบรมในหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันได้หันมายึดอาชีพเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์มอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตเดือนละไม่ต่ำกว่า 10,000-15,000 บาท โดยมีตลาดหลักอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งตลาดไทและสี่มุมเมือง
"ผมเป็นคนสุราษฎร์มาอยู่กระบี่ได้ 4-5 ปีแล้ว มาแต่งงานมีครอบครัวที่นี่ มีสวนปาล์มอยู่ 15 ไร่ แต่ไม่ค่อยสนใจมากนัก เพราะอาชีพที่ทำรายได้หลักผมทุกวันนี้ก็คือการเพาะเห็ดฟางขาย"
สฤษดิ์บอกว่าการเพาะเห็ดฟางของเขาจะต่างจากที่อื่นๆ ที่ต้องลงทุนสร้างโรงเรือนขนาดใหญ่หรือใช้อุปกรณ์ในการเพาะ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง ในขณะที่ตนเองนั้นจะใช้ทะลายปาล์ม ซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ง่ายในพื้นที่มาใช้เป็นอุปกรณ์ในการเพาะเห็ด โดยเมื่อก่อนจะใช้ทะลายปาล์มจากสวนของตนเอง แต่หลังจากได้ขยายพื้นที่การเพาะเห็ดเพิ่มขึ้น จึงต้องไปหาซื้อจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มในราคาตันละ 400 บาท
"ตอนนี้ที่บ้านทำอยู่ประมาณ 100 ร่อง แต่ละร่องจะยาว 4 เมตร กว้าง 80 เซนติเมตร และจะใช้ทะลายปาล์ม 3 หัวเรียงติดต่อกัน ผลผลิตแต่ละร่องจะเก็บได้ประมาณ 5-6 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งทุกวันนี้ผลผลิตที่เก็บได้เฉลี่ยอยู่ที่ 60 กิโล/วัน โดยจะส่งให้พ่อค้าที่กรุงเทพฯ ทั้งที่ตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง ในราคา 38-40 บาทต่อกิโลกรัม โดยจะไปส่งที่สนามบินกระบี่ทุกวัน"
สฤษดิ์ยอมรับว่าอาชีพการเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์มใน จ.กระบี่ ขณะนี้เริ่มมีผู้สนใจกันมากขึ้น เกษตรกรชาวสวนปาล์มใน จ.กระบี่ ส่วนใหญ่ได้หันมาเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์มกันมากขึ้น เนื่องจากเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดีและไม่มีปัญหาในเรื่องตลาด บางพื้นที่ก็มีการรวมกลุ่มทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นที่น่ายินดีที่หน่วยงานภาครัฐได้ให้ความสำคัญ มีโครงการต่างๆ จัดอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มมากขึ้น
"อย่างเมื่อก่อนการเพาะเห็ดของผมจะทำแบบง่ายๆ ไม่มีความรู้ทางวิชาการเข้ามาจับ ทำให้บางครั้งก็เกิดปัญหาผลผลิตเสียหายมาก มีโรคระบาดเกิดขึ้น ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ต้องทำลายทิ้ง ต้องเป็นหนี้เป็นสินต่อ ส่วนทะลายปาล์มที่หมดสภาพจากการเพาะเห็ดเขาก็แนะนำให้นำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ หลังจากที่เมื่อก่อนทิ้งอย่างเดียว" สฤษดิ์ย้ำชัด
นับเป็นอีกก้าวความสำเร็จของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มอย่าง "สฤษดิ์ วิเศษมาก" ที่สามารถนำวัสดุที่เหลือใช้อย่างทะลายปาล์มมาประยุกต์เป็นโรงเรือนสำหรับเพาะเห็ดฟางเพื่อเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง