วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เห็ดแครง

เห็ดแครง เป็นเห็ดที่ขึ้นอยู่ทั่วโลกและงอกได้ตลอดปี พบขึ้นอยู่กับวัสดุหลายชนิด เช่น ท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ใบหญ้า กระดาษ หรือแม้แต่บนกระดูกปลาวาฬก็พบเห็ดชนิดนี้ขึ้นอยู่ แต่ที่พบเป็นปริมาณมากสามารถเก็บรวบรวมเห็ดมารับประทานได้คือ บนท่อนไม้และกิ่งไม้ ในภาคใต้ของไทยพบมากบนท่อนไม้ยางพารา ต้นยางพาราที่ตัดโค่นไว้เมื่อท่อนไม้ตายและมีฝนตกก็พบเห็ดแครงขึ้นเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีการใช้ยาฆ่าตอต้นยางเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านบอกว่าเห็ดแครงที่เก็บรวบรวมมาจากตอยางเมื่อรับประทานแล้วมีอาการคันปาก และสงสัยว่าเกิดจากพิษของยาฆ่าตอยาง ตอนนี้ยังไม่มีการศึกษายืนยันแต่ควรหลีกเลี่ยงเก็บเห็ดจากตอยางที่ใช้ยาฆ่าตอ

Schizophyllum commune Fr.
-
เห็ดแครง
-
เห็ดตีนตุ๊กแก เห็ดจิก เห็ดยาง (ภาคใต้) เห็ดแก้น เห็ดตามอม (ภาคเหนือ) เห็ดมะม่วง (ภาคกลาง)

เห็ดแครงเป็นเห็ดขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายพัด (fan-shaped) ด้านฐานมีก้านขนาดสั้นๆ ยาวประมาณ 0.1- 0.5 เซนติเมตร หรือไม่มีก้านติดอยู่กับวัสดุที่ขึ้นด้านข้าง ดอกเห็ดมีขนาดความกว้าง ประมาณ 1-3 เซนติเมตร ผิวด้านบนมีสีขาวปนเทาปกคลุมทั่วไป ลักษณะดอกเหนียวและแข็งแรง เมื่อแห้งด้านใต้ของดอกเห็ดมีครีบมีลักษณะแตกเป็นร่อง (spilt-gill) พิมพ์สปอร์มีสีขาว สปอร์มีสีใสรูปร่างเป็นทรงกระบอกขนาด 3-4x1-1.5 ไมครอน เนื่องจากเห็ดแครงมีขึ้นอยู่ทั่วโลก ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ลักษณะดอกเห็ดอาจแตกต่างกันในแต่ละท้องที่

เห็ดแครงเป็นเห็ดที่เพาะปลูกได้ง่ายมากชนิดหนึ่ง สามารถใช้วัสดุในการเพาะหลายชนิด ขั้นตอนในการเพาะเลี้ยงเห็ดแครงจะเหมือนกับเห็ดชนิดอื่นๆ ยกเว้นสูตรอาหารและเทคนิคการเพาะ การดูแล ซึ่งต่างไปบ้าง เนื่องจากมีธาตุอาหารสูงจึงต้องปฏิบัติให้ถูก หากไม่มีจะทำให้เห็ดเกิดการปนเปื้อนเชื้อราอื่นได้สูง เป็นสาเหตุให้ผลผลิตเสียหาย สำหรับแม่เชื้อเห็ดแครงที่บริสุทธิ์แนะนำให้สั่งซื้อจากศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร เพราะได้ทำการคัดเลือกสายพันธุ์มาแล้วว่าให้ลักษณะดอกดี มีขนาดใหญ่ และให้ผลผลิตสูง เมื่อได้ แม่เชื้อมาแล้วก็นำมาทำเชื้อขยายในเมล็ดข้าวฟ่าง ซึ่งมีวิธีการเตรียมวัสดุเพาะเหมือนเห็ดชนิดอื่นๆ

: การเพาะเห็ดแครงมีขั้นตอนต่างๆ เหมือนการเพาะเห็ดถุงทั่วไป

การทำหัวเชื้อเห็ด เห็ดแครงสามารถทำหัวเชื้อได้บนเมล็ดข้าวฟ่างเหมือนกับทำหัวเชื้ออื่นๆ โดยแช่เมล็ดข้าวฟ่างในน้ำทิ้งไว้ 1 คืน นำไปต้มไฟปานกลางเมื่อเมล็ดข้าวฟ่างเริ่มนุ่ม นำขึ้นสรงให้สะเด็ดน้ำบนตะแกรง เมื่อเย็นกรอกใส่ขวดแบน จากนั้นปิดจุกสำลี นำไปนึ่งความดัน โดยใช้ความร้อน 121 องศาเซลเซียส ความดัน 15 ปอนด์ ใช้เวลา 30 นาที จากนั้นทิ้งไว้ให้เย็น แล้วตัดเส้นใยจากแม่เชื้อในอาหารวุ้น ถ่ายลงไปด้วยเข็มเขี่ยในสภาพปลอดเชื้อ บ่มเส้นในที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 7-10 วัน ก็นำไปถ่ายลงวัสดุเพาะได้
การเตรียมวัสดุเพาะ นำเมล็ดข้าวฟ่างแช่ในน้ำทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นเทน้ำทิ้งเปลี่ยนน้ำใหม่ต้มให้เดือด จนเมล็ดข้าวฟ่างค่อนข้างสุก แล้วรินน้ำทิ้ง พักไว้ให้เย็นหมาดๆระหว่างนี้ให้ผสมขี้เลื่อย ปูนขาวและรำเข้าด้วยกันก่อน จากนั้นจึงผสมน้ำลงไป (หากผสมพร้อมกันหมด รำจะจับติดเป็นก้อน) เมื่อผสมเข้ากันดีแล้ว จึงนำเมล็ดข้าวฟ่างที่เตรียมไว้มาผสมอีกที จากนั้นกรอกใส่ถุงพลาสติก ขนาด 6x10 นิ้ว ให้มีน้ำหนัก 600 กรัม ใส่คอขวด รัดยาง และปิดสำลีแล้วปิดด้วยฝาปิด จากนั้นนำไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดัน 15 ปอนด์ เป็นเวลา 30 นาที หรือ นึ่งด้วยหม้อนึ่งลูกทุ่ง อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ได้เวลาแล้วพักไว้ให้เย็น จึงรีบใส่เชื้อในเมล็ดข้าวฟ่างที่เตรียมไว้ทันที พยายามอย่าทิ้งถุงไว้เกิน 24 ชั่วโมง จะทำให้การปนเปื้อนสูง
การพักบ่มเส้นใย โรงเรือนสำหรับพักบ่มเส้นใย ควรเป็นโรงเรือนในร่ม ที่มีการระบายอากาศดี และข้อสำคัญควรเป็นที่มืด (ขนาดที่อ่านหนังสือพิมพ์ไม่เห็นในระยะ 1 ฟุต ตรงนี้เป็นเทคนิคที่ค่อนข้างจะปฏิบัติได้ยากแต่จะต้องพยายามทำให้มืดที่สุด) เส้นใยจะเจริญเต็มถุงในเวลา 15 – 20 วัน ที่อุณหภูมิระหว่าง 25 – 35 องศาเซลเซียส ซึ่งหลังจากเส้นใยเต็มถุง จึงให้แสงในโรงบ่ม แสงจะกระตุ้นให้เห็ดสร้างตุ่มดอก จะสังเกตเส้นใยเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จึงนำไปเปิดดอก โดยดึงจุกสำลีและคอขวดด้านบนออก ใช้ยางรัดปิดปากถุงให้แน่น แล้วกรีดด้านข้างให้เป็นมุมเฉียงจากบนลงล่างทั้ง 4 มุมของถุง แล้วนำไปวางบนชั้นหรือแขวนในโรงเรือน
โรงเรือนเปิดดอก โรงเรือนเปิดดอกจะใกล้เคียงกับโรงเรือนเปิดดอกของเห็ดหูหนู การรดน้ำควรจะติดระบบสปริงเกอร์ ให้น้ำเช้าและเย็น หากรดน้ำด้วยมือจะต้องใช้หัวฉีดพ่นฝอย มิฉะนั้นก้อนเห็ดจะดูดน้ำเข้าไปทำให้ก้อนเชื้อเสียและปนเปื้อนจุลินทรีย์อื่น การวางก้อนเชื้อจะต้องวางตั้งบนชั้นหรือแขวนแบบเห็ดหูหนู หลังจาก กรีดข้างถุงและรดน้ำเห็ดไปประมาณ 5 วัน จะเก็บผลผลิตรุ่นที่ 1 ได้ หลังจากนั้นเห็ดจะพักตัวอีก 5-7 วัน รดน้ำเป็นปกติ ก็จะเก็บรุ่นที่ 2 และ3 ตามลำดับ ซึ่งผลผลิตก็จะหมดให้ขนก้อนเก่าไปทิ้ง และพักโรงเรือน ให้แห้งเป็นเวลา 15 วัน จึงนำถุงเห็ดรุ่นใหม่ เข้าเปิดดอกต่อไป

โรคในเห็ดแครงจะพบการปนเปื้อนจาก ราเขียว และราส้ม เนื่องจากวัสดุเพาะมีธาตุอาหารสูงจึงเกิดการปนเปื้อนได้ง่าย

เนื่องจากเห็ดแครงเป็นเห็ดที่มีแร่ธาตุอาหารต่างๆ เป็นอาหารบำรุงร่างกายทำให้สุขภาพดี อีกทั้งมีสาร Schizophyllan ที่มีสรรพคุณในด้านการรักษาโรคต่างๆมากมาย เห็ดแครงสามารถปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น นำมาเจียวกับไข่ แกงกะทิ ห่อหมก งบเห็ดแครง ในประเทศจีนมีการแนะนำให้คนไข้ที่เป็นโรคระดูขาว รับประทานเห็ดแครงที่ปรุงกับไข่เพื่อรักษาโรค และรับประทานร่วมกับใบชาโดยต้มเห็ดแครง 9 – 16 กรัม กับน้ำกินวันละประมาณ 3 ครั้ง ใช้เป็นอาหารบำรุงร่างกาย ในประเทศญี่ปุ่นใช้เป็นยาเนื่องจาก พบสารประกอบพวก polysaccharide ชื่อว่า Schizophyllan (1,3 B-glucan) ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อไวรัสและยับยั้งเซลมะเร็งชนิด Sarcoma 180 และ Sarcoma 37 โดยทดลองใน หนูขาวยับยั้งได้ร้อยละ 70 – 100

คุณค่าทางโภชนาการ :

เห็ดแครง 100 กรัม ให้ โปรตีน 17.0 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม แคลเซียม 90 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 280 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 640 มิลลิกรัม