วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

ฤาษีนกเค็ด

ปรัชญาหนังตะลุง : ฤาษีธรรมกับฤาษีนกเค็ด
ฤาษีธรรมกับฤาษีนกเค็ด
ฤาษี จัดเป็นตัวละครสำคัญในหนังตะลุงซึ่งจะต้องมี หนังตะลุงหลังจากโหมโรงแล้วก็จะออกฤาษี หรือเชิดฤาษีก่อน เพื่อแสดงการกราบไหว้สิ่งศักดิ์ต่างๆ เช่น พระรัตนตรัย เทวดา เจ้าที่เจ้าทาง เป็นต้น ...
อีกอย่างหนึ่ง การอัญเชิญฤาษีออกมาก็เพื่อสยบสิ่งต่างๆ ที่อาจพึงมีในการแสดงต่อไป จากผู้ไม่หวังดีที่อาจใช้ไสยเวทย์ มนต์ดำ มาทำลาย รบกวน หรือหยอกล้อ ทำให้การแสดงไม่ราบรื่น ได้ ...ซึ่งปรกตินายหนังเอง มักจะมีคาถา หรือรู้ไสยเวทย์พื้นฐาน เพื่อป้องกันสิ่งเหล่านี้ด้วย...
อันที่จริง ฤาษี นั่นคือ นักพรต หรือ นักบวช มิใช่พระสงฆ์ ... แต่ในการดำเนินตามท้องเรื่อง ฤาษีก็คือเจ้าอาวาสวัด ผู้เป็นอาจารย์สอนบรรดาศิษย์ผู้อยู่ภายในสำนัก ...ซึ่งในกรณีนี้ อาจมองได้ว่าโบราณ มิกล้านำ พระสงฆ์ มาแสดงเป็นตัวละครโดยตรง เพราะเกรงกลัวบาป จึงต้องใช้ ฤาษี แทน ...
ฤาษีในหนังตะลุง จะจำแนกเป็น ๒ ประเภท คือ ฤาษีธรรม กับ ฤาษีนกเค็ด ....(แม้ในหนังตะลุงบางเรื่องอาจมีฤาษีหลายตนก็ตาม แต่ก็จะจำแนกเป็นฤาษีธรรมหรืฤาษีนกเค็ดอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น)..
ฤาษีธรรม คือ พระอาจารย์ของฝ่ายพระเอกหรือนางเอก จะสอนวิชาธัมมธัมโม สอนคนให้เป็นคนดี มีศีล มีคุณธรรม... และฤาษีธรรมจะมีฤทธิ์ มีวิชาไสยเวทย์ มนต์ดำ มีของดี หรือเครื่องรางของขลัง ให้ลูกศิษย์ไว้ใช้หรือป้องกันตัวด้วย...
ฤาษีนกเค็ด คือ อาจารย์ของฝ่ายผู้ร้ายหรือบางครั้งก็เป็นอาจารย์ของพวกยักษ์... ฤาษีนกเค็ดนี้ ไม่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม เช่น ชอบกินเหล้า หรือเรื่องลามกต่างๆ เป็นต้น ...แต่ก็จะมีฤทธิ์และสิ่งอื่นๆ เช่นเดียวกับฤาษีธรรม...
วิชาของฤาษีธรรมจะเหนือกว่าของฤาษีนกเค็ด ข้อนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า ธรรมะย่อมชนะอธรรม เสมอ
ในการที่หนังตะลุงจำแนกฤาษีออกเป็น ๒ ประเภท นี้ อาจสะท้อนความเป็นจริงได้ว่า นักบวช นักพรต ก็มีทั้งพวกตั้งอยู่ในศีลในธรรมและพวกประพฤตินอกรีตนอกรอย ...และอาจารย์มักจะสอนศิษย์ตามมุมมองหรือความคิดเห็นของตัวเอง ...
บรรดาศิษย์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าไปอยู่กับฤาษีธรรมก็เป็นคนดี ...ถ้าไปอยู่กับฤาษีนกเค็ดก็จะเป็นคนชั่ว ....ข้อนี้เป็นการสะท้อนการคบคนหรือการเข้าสังคมอย่างหนึ่ง ...ดังพระบาลีว่า..
ยํ เว เสวติ ตาทิโส คบคนเช่นใดก็เป็นคนเช่นนั้นแล