วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

นิทานเวตาล 4

นิทาเวตาล๔
พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปยังต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง และคว้าตัวเวตาลซึ่งสิงอยู่ในศพโดยปราศจากความหวาดกลัวถึงแม้มันจะกรีดเสียงร้องโหยหวนเพียงใดก็ตาม เมื่อจับมันได้แล้วก็ตวัดร่างมันขึ้นพาดบ่า เสด็จไปตามทางเดินอย่างเงียบ ๆ เวตาลเห็นพระราชานิ่งเงียบอยู่ ก็กล่าวทำลายความเงียบขึ้นว่า
"โอ ราชะ ข้าไม่คิดเลยว่าพระองค์จะมาเสียเวลาทำงานให้แก่อ้ายโยคีชั่วคนนั้น เพื่อประโยชน์อันใด จะว่าไปพระองค์ก็รู้ดีอยู่แล้วมิใช่หรือว่า งานที่ทรงทำนี้ย่อมไร้ผลเปล่าโดยแท้ อย่างไรก็ดีหนทางยังอยู่อีกไกล ข้าคิดว่าข้าจะเล่านิทานสนุก ๆ ให้พระองค์ฟังสักเรื่องหนึ่งเพื่อคลายเหงาโปรดทรงสดับเถิด"
แต่ครั้งดึกดำบรรพ์ ยังมีนครใหญ่แห่งหนึ่งชื่อ โศภาวดี มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองอยู่ทรงทนามว่า ศูทรกะ เป็นผู้ห้าวหาญอย่างยอดยิ่งในสงคราม ซึ่งไฟแห่งชัยชนะของพระองค์ถูกกระพือโหมให้เจิดจ้าด้วยพัดที่โบกจากหัตถ์ของนางกษัตริย์ที่ตกเป็นเชลยเพราะสวามีทั้งหลายต้องพ่ายแพ้ในสงคราม ข้าคิดว่าแผ่นดินโลกนี้มีเกียรติมหาศาลในรัชสมัยของพระราชาองค์นี้โดยแท้ ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาโดยตลอด มิได้หยุดเว้่นแม้แต่สักวัน คุณธรรมของพระองค์ชนะใจแม้กระทั่งแม่พระธรณี ทำให้พระเทวีลืมบุคคลอื่นโดยสิ้นเชิง แม้องค์พระรามจันทร์ผู้ยอดเยี่ยมในวีรจริตก็ตาม
สมัยหนึ่งมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ วีรวร เดินทางมาจากแคว้นมาลวะ เพื่อมารับจ้างทำงานในราชสำนักของพระราชา เพราะทราบกิตติศัพท์ว่าพระราชาผู้นี้เป็นผู้โปรดปรานคนกล้า ภรรยาของพราหมณ์ชื่อนางธรรมวดี และทั้งสองสามีภริยามีบุตรชายด้วยกันชื่อ สัตตววร และบุตรสาวชื่อวีรวดี คนทั้งสามนี้เป็นครอบครัวของเขา นอกเหนือจากลูกน้องซึ่งมีอีกสามคน วีรวรนั้นเหน็บกริชไว้ที่สีข้าง มือข้างหนึ่งถือดาบ และอีกข้างหนึ่งถือโล่
ถึงแม้ว่าเขาจะรวมกันเป็นบริษัทอันน้อยนิดเท่านี้ก็ตาม เขายังกล้าเรียกร้องค่าจ้างต่อพระราชาถึงวันละห้าร้อยเหรียญทีนาร์ (เหรียญทองโบราณชนิดหนึ่งของอินเดีย) แต่พระราชาศูทรกะก็มิได้เกี่ยงงอน ทั้งนี้เพราะพอพระทัยในรูปร่างท่าทางอันแข็งแรงของเขา จึงตกลงจ้างเอาไว้ แต่ก็ทรงพิศวงในพระทัยไม่หาย ว่าเขาเอาเงินไปทำอะไรมากมายทั้ง ๆ ที่เขาก็เลี้ยงคนเพียงไม่กี่คน พระราชาจึงสั่งให้สายลับของพระองค์ติดตามดูพฤติกรรมของเขาอย่างใกล้ชิด ความจริงปรากฎว่าทุก ๆ วัน วีรวรจะต้องเข้าเฝ้าพระราชาตอนเช้า ตอนกลางวันยืนยามอยู่หน้าประตูวัง มือถือดาบมั่นคง หลังจากนั้นก็กลับไปบ้าน จ่ายเงินหนึ่งร้อยทีนาร์แก่ภรรยาเป็นค่าอาหาร และจ่ายหนึ่งร้อยเหรียญเพื่อเสื้อผ้า วิเลปนะเครื่องลูบไล้ร่างกาย และซื้อหมากพลู เมื่ออาบน้ำแล้วเอาเงินหนึ่งร้อยเหรียญไปบูชาพระวิษณุและพระศิวะ อีกสองร้อยเหรียญสุดท้ายใช้ทำบุญแก่พราหมณ์ที่ยากจน ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือการใช้จ่ายประจำวันจากเงินค่ารับจ้างห้าร้อยเหรียญต่อวัน หลังจากนี้วีรวรก็ทำการบูชายัญด้วยเนยใส และทำพิธีอื่น ๆ อีก เสร็จแล้วจึงรับประทานอาหาร เมื่อรับประทานอาหารเสร็จก็กลับไปอยู่ยามหน้าประตูวังตามเดิมตลอดถึงเวลาค่ำคืนยืนถือดาบเปลีอยอยู่
เมื่อพระราชาศูทรกะได้ทราบเรื่องจากสายลับที่ไปสืบได้ความว่า วีรวรเป็นผู้ประพฤติชอบธรรมดังนั้น ก็ทรงชื่นชมยิ่งนัก จึงโปรดให้จารบุรุษเหล่านั้นยุติการติดตามวีรวร และทรงนิยมเลื่อมใสว่าเขาช่างเป็นคนดีนี่กระไร
วันหนึ่งอากาศร้อนจัด ดวงอาทิตย์แผดแสงแรงกล้าจนแทบจะทนไม่ไหว และแล้วมรสุมใหญ่ก็เคลื่อนเข้ามาพร้อมด้วยเสียงคำรามกึกก้องในท้องฟ้า สายฝนกระหน่ำลงมาอย่างรุนแรงไม่ขาดสายทั้งกลางวันและกลางคืน แต่วีรวรก็ยังยืนนิ่งไม่สะทกสะท้านอยู่กลางห่าฝนที่ประตูพระราชวัง พระเจ้าศูทรกะทอดพระเนตรเห็นในเวลากลางวันจากยอดมนเทียร ครั้นเวลากลางคืนเสด็จขึ้นไปยอดมนเทียรอีกเพื่อดูว่าเขายังอยู่ที่เดิมหรือเปล่า จากที่นั้นพระราชาตะโกนลงไปว่า "ใครยืนอยู่ที่ประตูวังนั่น" เมื่อวีรวรได้ยินก็ตอบไปว่า "ข้าพระบาทเอง พระเจ้าข้า" พระราชาศูทรกะทรงนึกในพระทัยว่า "อา วีรวร เจ้าช่างเป็นชายที่เข้มแข็งและจงรักภักดีต่อข้ายิ่งนัก ข้าจะเลื่อนเจ้าให้มีตำแหน่งสูงขึ้นไปกว่านี้" เมื่อพระราชาทรงคิดดังนี้แล้วก็เสด็จลงจากยอดมนเทียรเข้าสู่สิริไสยาและเข้าบรรทม
ในวันรุ่งขึ้น เมฆดำในท้องฟ้าก็ยังหลั่งฝนลงมาอย่างรุนแรงตามเดิม ความมืดแผ่ซ่านไปทั่วเหมือนจะบดบังไม่ให้เห็นสวรรค์อีกต่อไป พระราชาเสด็จขึ้นไปบนยอดมนเทียรอีกครั้งด้วยความสนใจใคร่รู้ ทรงตะโกนถามลงไปด้วยเสียงอันแจ่มใสว่า "ใครยืนเฝ้าหน้าประตูปราสาทนั่น" วีรวรก็ตะโกนขึ้นไปว่า "ข้าพระบาทอยู่ที่นี่"
ขณะที่พระเจ้าแผ่นดินกำลังนึกชื่นชมองครักษ์ของพระองค์อยู่นั้น พลันได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้คร่ำครวญมาแต่ที่ไกล เป็นเสียงโหยหวนเหมือนคนมีทุกข์ใหญ่ปิ่มว่าใจจะขาดรอน เมื่อพระราชาได้สดับดังนั้นก็บังเกิดความสงสารจับใจ กล่าวแก่พระองค์เองว่า "ในอาณาจักรของข้า ไม่มีใครถูกบังคับกดขี่ ไม่มีคนยากไร้ หรือมีใครเดือดร้อน ก็ผู้หญิงคนนี้เป็นใครเล่า จึงมาพิลาปร่ำไห้อยู่แต่ผู้เดียวในยามค่ำคืนเช่นนี้" คิดดังนี้แล้วพระราชาก็ออกคำสั่งแก่วีรวรผู้ยืนอยู่ข้างล่างว่า "ฟังนะวีรวร ข้าได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้ในที่ไกล จงออกไปดูว่านางคือใคร และนางร้องไห้ทำไม"
เมื่อวีรวรได้ฟังรับสั่งก็กราบทูลว่า "ข้าพระบาทจะไปสืบดู พระเจ้าข้า" แล้วออกเดินหา มือถือดาบกระชับแน่น มีกริชห้อยเอว ค่อยด้อมมองเหมือนรากษสที่ด้อมหาเหยื่อ มีแสงฟ้าแลบแวบวาบจากท้องฟ้าดูประหนึ่งแสงจากดวงตาของอสูรร้าย และเม็ดฝนซึ่งตกกราดไปทั่วนั้นเล่าก็ดูประหนึ่งก้อนหินที่มันขว้างปามาฉะนั้น พระราชาศูทรกะเมื่อแลเห็นองครักษ์หนุ่มออกวิ่งไปแต่ผู้เดียวในราตรีเช่นนั้น พระทัยของพระองค์ก็เป็นห่วง และเกิดความอยากจะรู้เหตุการณ์จึงรีบเสด็จลงจากยอดมนเทียร พระหัตถ์กุมดาบวิ่งตามหลังไปติด ๆ แต่ลำพังโดยที่เขาไม่ทันรู้
วีรวรวิ่งติดตามเสียงคร่ำครวญไปจนถึงบึงแห่งหนึ่งอยู่นอกพระนคร ณ ที่นั้น ชายหนุ่มแลเห็นหญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ในบึงกำลังเปล่งเสียงร้องไห้คร่ำครวญอยู่ นางแลเห็นเขาก็กล่าวว่า "โอ ท่านผู้วีระ ท่านผู้มีเมตตา ท่านผู้มีใจอันกว้างขวาง ขอท่านจงช่วยเหลือข้าด้วยเถิด ข้าจะอยู่ได้อย่างไรเล่า ถ้าปราศจากท่านเสียแล้ว" ฝ่ายวีรวรผู้ซึี่งพระราชาแอบติดตามมาเงียบ ๆ ได้ฟังถ้อยคำของหญิงลึกลับก็กล่าวด้วยความสนเท่ห์ว่า "เธอเป็นใครทำไมมานั่งคร่ำครวญอยู่ที่นี่"
นางได้ฟังก็ตอบว่า "วีรวรที่รัก ท่านจงรู้เถิดว่าข้านี่แหละคือแม่นางธรณี และพระราชาศูทรกะนั้นเป็นนาถะของข้า น่าเสียดายที่พระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์เสียแล้วนับแต่นี้ไปอีกสามวัน ข้าจะอยู่ต่อไปได้ไฉน และข้าจะหาใครที่เป็นที่พึ่งอันวิเศษสุดเช่นพระองค์ได้ที่ไหนเล่า ด้วยเหตุนี้แหละข้าจึงเศร้าโศกและมานั่งคร่ำครวญสงสารตัวเองและพระราชาองค์นั้นด้วย"
วีรวรได้ยินนางกล่าวก็ตกใจ กล่าวละล่ำละลักว่า
"เรื่องเป็นเช่นนั้นหรือ โอ้พระปฤถิวีเทวี จะมีหนทางใดที่จะช่วยชีวิตของพระราชาไว้ได้เล่า เหตุใดพระโลกนาถจะต้องสิ้นพระชนม์ชีพด้วยเล่า"
พระธรณีนิ่งไตร่ตรองอยู่ครู่หนึ่งจึงตอบว่า
"มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นที่จะพลิกผันชะตากรรมนี้ได้ และเจ้าผู้เดียวที่จะรับภาระนี้ไป"
เมื่อได้ฟังดังน้น วีรวรก็รีบรับคำว่า "บอกมาเถิด พระแม่เจ้า บอกมาเร็ว ๆ เพื่อข้าจะได้รีบทำ ข้าเต็มใจทุกอย่างแม้จะต้องพลีด้วยชีวิตของข้าก็ตาม"
พระเมทนีได้ฟังก็กล่าวว่า "ใครเล่าจะกล้าหาญและภักดีต่อองค์พระภูบดีเหมือนเจ้า จงฟังคำของข้าให้ดี วิธีที่จะช่วยพระนฤบดินทร์ได้มีอยู่ทางเดียวคือ เจ้าต้องเอาลูกของเจ้าคือสัตตววรสังเวยต่อพระแม่เจ้าจัณฑี (ผู้ดุร้าย หมายถึงพระอุมา มเหสีของพระศิวะในปางดุร้าย ซึ่งเป็นปางที่พระเทวีมาปรากฏพระองค์เพื่อทำสงครามกับเหล่าอสูรเท่านั้น บางทีเรียกว่าเจ้าแม่กาลี) พระมหาเทวีผู้ทรงเกียรติระบือจะทรงปรากฏพระกายต่อหน้าผู้ภักดีต่อพระองค์และพร้อมจะทรงช่วยได้เสมอ พระจัณฑีผู้นี้ประทับอยู่ภายในวิหารที่อยู่ใกล้พระราชวังนี้แหละ เจ้าจงทำอย่างที่ข้าแนะและพระราชาก็จะปลอดภัย และมีชีวิตยืนยาวต่อไปอีกร้อยปี ถ้าเจ้าจะปฏิบัติตามคำของข้าโดยเร็ว ข้าก็เชื่อแน่ว่าพระชนม์ชีพของพระองค์จะดำรงอยู่ แต่ถ้าเจ้ามัวแต่รีรอ ก็เชื่อเถิดว่า พระราชาจะต้องสิ้นชีวิตภายในสามวั้นนับแต่วันนี้เป็นต้นไป
เมื่อพระปฤถิวีเทวีแจ้งให้ทราบเรื่องความลับดังนี้ วีรวรก็ให้คำมั่นสัญญาว่า "ข้าแต่พระเทวี ข้าจะไปดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด" พระเทวีจึงให้พรว่า "ขอจงสำเร็จเถิด" แล้วอันตรธานหายไป ถ้อยคำทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบดังกล่าวมิได้รอดพ้นโสตของพระราชาไปได้ เพราะพระองค์แอบติดตามวีรวรมาอย่างลับ ๆ โดยที่วีรวรไม่รู้ตัว
วีรวรกลับไปบ้านของตนอย่างรวดเร็วในความมืด ส่วนพระราชาศูทรกะมีความอยากรู้ว่าเหตุการณ์จะดำเนินไปอย่างไร ก็แอบย่องตามหลังชายหนุ่มไปติด ๆ โดยเขาไม่รู้สึกตัว แลเห็นวีรวรตรงเข้าไปหานางธรรมวดีผู้เป็นภรรยาและแจ้งให้นางทราบว่า ตนได้รับคำแนะนำจากพระธรณีให้มาเอาบุตรชายไปสังเวยต่อเจ้าแม่กาลี เพื่อช่วยชีวิตพระราชา เมื่อนางได้ฟังก็กล่าวว่า
"ท่านพี่ เรามีหน้าที่ต้องพิทักษ์พระชนม์ชีพของพระราชา จงอย่ารีรอเลย รีบไปปลุกลูกชายของเราเถิด และแจ้งให้เขาทราบด้วยตัวท่านพี่เอง"
วีรวรจึงปลุกลูกชายของตนให้ลุกขึ้น เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง และกล่าวว่า "สัตตววรลูกรัก จงรู้เถิดว่า ถ้าเจ้ายอมเป็นเครื่องสังเวยพระแม่เจ้าจัณฑี พระราชาก็จะรอดชีวิต แต่ถ้าเจ้าไม่ยินยอม พระราชาก็จะต้องสูญสิ้นพระชนม์ชีพภายในสามวัน"
สัตตววรแม้จะเป็นเด็กก็ตาม แต่ก็มีความกล้าหาญอย่างยอดยิ่งสมกับชื่่อ สัตตววร ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้มีชื่อเสียงอันโดดเด่นเพราะความกล้าหาญ" เด็กน้อยจึงตอบบิดาว่า
"ลูกจะสังเวยชีวิตเพื่อพระราชาเอง เพื่อจะได้ตอบแทนพระคุณของพระองค์ผู้ประทานข้าวปลาอาหารเลี้ยงชีวิตของพวกเรา ฉะนั้นจะต้องลังเลทำไม เอาลูกไปวางบนแท่นสังเวยของพระแม่เจ้าเถิด ขอให้ลูกเป็นผู้รับภาระอันนี้เพื่อความผาสุกขององค์นฤบดีเถิด"
เมื่อสัตตววรกล่าวเช่นนี้ วีวรก็โล่งอก กล่าวว่า "ลูกเอ๋ย เจ้าช่างสมเป็นลูกพ่อยิ่งนัก"
ฝ่ายพระราชาผู้สะกดรอยตามมาและแอบฟังอยู่ข้างนอก ได้ยินเรื่องราวโดยตลอดก็ทรงตื้นตันพระทัยนัก ทรงรำพึงแก่พระองค์เองว่า "อา คนเหล่านี้มีความกล้าหาญเหมือนกันหมดโดยแท้"
วีรวรนำบุตรชายออกจากบ้าน ให้เด็กน้อยนั่งบนบ่า และนางธรรมวดีผู้ภรรยาก็จูงลูกสาวชื่อ วีรวดี ติดตามมาด้วย พากันไปยังเทวาลัยของพระจัณฑี ฝ่ายพระราชาก็ติดตามมาดูเหตุการณ์อย่างกระชั้นชิด
คร้ันแล้ววีรวรก็อุ้มลูกชายลงจากบ่า และวางบนแท่นสังเวยของเทวรูป เมื่อสัตตววรถูกนำมาสู่เบื้องพระพักตร์พระเทวีก็มิได้มีความหวาดหวั่นแต่ประการใด ก้มศีรษะลงอย่างนอบน้อม กล่าวว่า
"ข้าแต่พระเทวี ขอให้การสังเวยศีรษะของข้าในวันนี้จงเป็นผลยังพระราชาศูทรกะให้ดำรงพระชนม์ชีพยืนนานถึงร้อยปีด้วยเถิด ขอให้พระองค์ทรงปกครองราชอาณาจักรด้วยความเกรียงไกรไร้ผู้ต้านทานเถิด"
เมื่อสัตตววรกล่าวจบลง วีรวรก็เปล่งเสียงด้วยความยินดีว่า "ดีละ ลูกของพ่อ" พร้อมกับชักดาบออกจากฝักฟันฉับลงไปที่คอของบุตรชาย แล้วนำไปถวายเบื้องพระพักตร์พระจัณฑีเทวี และกล่าวว่า "ข้าพเจ้าได้สังเวยบุตรต่อองค์พระแม่เจ้าแล้ว ขอทรงช่วยให้พระราชารอดพ้นความตายด้วยเถิด"
ทันใดก็มีเสียงอุโฆษลอยมาในอากาศทำให้ได้ยินทั่วกันว่า "สาธุ วีรวรเจ้าช่างเป็นคนซื่อสัตย์และภักดีต่อพระราชานี่กระไร จะหาใครเสมอเหมือนเจ้าก็ยากนัก เพราะการที่เจ้าทำการสังเวยต่อข้าด้วยชีวิตของลูกชายผู้ประเสริฐดังนี้ พระราชาศูทรกะจะมีพระชนม์ชีพยาวนาน และอาณาจักรของพระองค์จะรุ่งโรจน์สืบไปชั่วกาลนาน"
ขณะนั้นเองนางวีรวดีบุตรสาวของวีรวรก็ลุกขึ้น ตรงไปสวมกอดศีรษะของพี่ชาย ซึ่งหาชีวิตไม่แล้ว สะอึกสะอื้นด้วยความรันทด และด้วยความทุกข์แสนศัลย์สุดทีี่จะทนทาน หัวใจนางก็แตกสลายล้มลงขาดใจตาย พระราชาทรงเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้โดยตลอดจากที่ซ่อนของพระองค์
ทันใดนั้นนางธรรมวดีผู้เป็นภรรยาของวีรวรก็ลุกขึ้นกล่าวแก่สามีว่า "เราได้ช่วยเหลือพระเจ้าแผ่นดินและอาณาจักรของพระองค์ไว้แล้ว บัดนี้ข้ามีบางสิ่งจะพูดกับท่าน ก็ตั้งแต่ลูกสาวของข้า แม้เป็นเด็กไร้เดียงสา ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย ยังต้องมาตายเพราะความโศกเศร้าถึงพี่ชาย เป็นอันว่าชีวิตของลูกทั้งสองของข้าก็สิ้นสูญไปแล้ว ชีวิตของข้าจะมีประโยชน์อันใดอีกเล่า ข้าเป็นคนโง่เองที่มิได้เสนอตัวเองเพื่อสังเวยตั้งแต่แรกเพื่อความอยู่รอดของพระราชา ฉะนั้นขอให้ข้าเข้ากองไฟตายพร้อมกับลูก ๆ ด้วยเถิด"
เมื่อนางปลงใจจะทำเช่นนี้ วีรวรก็ขัดไม่ได้ จึงกล่าวแก่นางว่า
"นางผู้เป็นภัฏฏินี (หญิงผู้เจริญ หญิงผู้ดี) ของข้า ถ้าเป็นความประสงค์ของเจ้า ก็จงทำเถิด ขอความเจริญจงมีแก่เธอ ข้ารู้ว่าข้าไม่อาจจะยับยั้งเจ้าได้ เพราะเจ้ามีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำเช่นนี้ ข้ารู้ว่าเจ้าจะทนทานต่อไปอีกไม่ไหวเพราะเมื่อสิ้นลูก ชีวิตเจ้าก็พลอยสิ้นสูญไปด้วย แต่อย่าโทษว่าเป็นความผิดของตัวเองเลย เพราะเจ้าเองมิได้ถูกกำหนดให้ต้องสังเวยชีวิต ตัวข้าก็เช่นเดียวกันที่จะต้องสังเวย ถ้ามิใช่ความประสงค์ของพระแม่เจ้าที่ประสงค์เฉพาะลูกชายของข้าเท่านั้น เจ้าจงคอยอยู่ที่นี่ก่อน จนกว่าข้าจะจัดกองไฟสำหรับเจ้าด้วยฟืนเหล่านี้ และทำรั้วล้อมรอบมณฑลแห่งยัชญพิธีของพระแม่เจ้าเสียก่อน" วีรวรกล่าวจบก็ลงมือทำจิตกาธาน (ที่เผาศพ ,เชิงตะกอน) และรั้วยัชญมณฑลจนเสร็จเรียบร้อย แล้ววางศพลูกทั้งสองบนกองฟืน จุดไฟลุกโชติช่วงด้วยตะเกียง
นางธรรมวดีเห็นทุกสิ่งจัดเตรียมเรียบร้อยแล้วก็คุกเข่าลงแทบเท้าสามีกล่าวอำลา และหลังจากที่บูชาพระแม่เจ้าจัณฑีแล้ว ก็สวดมนตร์และอธิษฐานว่า "ขอให้สามีในปัจจุบันของข้าได้ไปเจอกันอีกในชาติหน้าภพใหม่ และขอให้การสังเวยชีวิตของข้าจงเป็นผลเพื่อสวัสดิภาพของพระราชานั้นทุกประการ" กล่าวจบนางผู้เลิศด้วยคุณธรรมก็โผร่างเข้าหากองไฟอันช่วงโชติในจิตกาธานซึ่งเป็นเปลวแลบเลียไปทั่วทุกทิศทุกทาง
ครั้นแล้ววีรวรบุรุษผู้วีระก็กล่าวแก่ตนเองว่า
"เราได้ทำทุกสิ่งไปแล้วเพื่อการรอดชีวิตของพระราชา และทำตามที่เสียงสวรรค์ได้เป็นประจักษ์พยานรับรู้ บัดนี้เราก็ใช้หนี้ให้แก่นายของเราผู้ให้ข้าวให้น้ำเรากินจนหมดสิ้นแล้ว บุญคุณอื่นใดเป็นอันยุติ เดี๋ยวนี้เราก็เป็นอิสระแล้ว ประโยชน์อันใดที่เราจะยึดมั่นในชีวิตนี้อีกต่อไป การมีชีวิตอยู่โดยปราศจากผู้เป็นที่รักคือลูกและเมียย่อมไร้ค่าสำหรับคนซึ่งมีหน้าที่จะต้องกระทำอย่างเรา ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ไยเราไม่สังเวยชีวิตที่เหลืออยู่นี้ให้แก่พระทุรคาเทวี(เทวีผู้เข้าถึงยาก หมายถึงพระอุมาปางดุร้าย) เล่า"
เมื่อคิดดังนี้แล้วเขาก็ก้าวเข้าไปยืนอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระเทวี และกล่าวโศลกถวายด้วยความนอบน้อมว่า
"ขอเกียรติคุณจงมีแด่พระเทวีผู้ประหารมหิษาสูร (อสูรผู้มีร่างเป็นควาย เป็นอสูรร้ายกาจที่พระทุรคาต้องเสด็จมาปราบและทรงประหารมันได้ในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงทรงได้นามว่า มหิษาสรมรรทินี ) ในบรรพกาล พระผู้ทำลายชีพของทานพรุรุ (ทานพ ชื่อรุรุ เป็นชื่อของอสูรหรือทานพผู้หนึ่งที่ได้รับพรจากพระพรหมแล้วมีใจกำเริบ ยกทัพไปย่ำยีสวรรค์ บรรดาทวยเทพต่างก็หนีไปเฝ้าพระทุรคาหรือศักติ (มเหสีพระศิวะ) ที่ภูเขาอัญชัน และทูลขอร้องให้ช่วย พระเทวีจึงเสด็จมาปราบ อสูรรุรุ และทรงประหารอสูรด้วยเล็บพระบาท) โอ พระเทวีผู้ทรงตรีศูลเป็นเทพาวุธ ขอความรุ่งโรจน์จงมีแด่พระโลกมาตา ผู้เป็นยอดแห่งผู้เป็นมารดาทั้งหลาย พระองค์เป็นผู้นำความบันเทิงสุขมาสู่ทวยเทพ และเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งโลกทั้งสาม ขอสิทธิศักดิ์จงมีแด่พระองค์ ผู้มีพระบาทอันชาวโลกทั้งมวลพึงกราบไหว้ พระเป็นที่พึ่งของสัตตวนิกรทั้งหลายผู้มาพึ่งพำนักจิตเพื่อความหลุดพ้น ขอชัยจงมีแด่พระองค์ผู้ทรงพัสตราภรณ์คือรัศมีแห่งสูรยะ ผู้ขับไล่ความมืดความวุ่นวายให้สิ้นไป โอ้ พระแม่เจ้ากาลี พระเทวีผู้ทรงสายประคำคือกะโหลกมนุษย์ และทรงประดับพระเศียรด้วยกระดูกแห่งสรีระ ขออนัตชัยจงมีแด่องค์พระศิวา (มเหสีของพระศิวะ หมายถึงพระอุมา ทุรคา กาลี จัณฑี เคารี และอื่น ๆ) ขอทรงมีพระเกียรติยิ่งยืนนาน ขอพระองค์ทรงพอพระทัยในการสังเวยศีรษะของข้า และทรงอวยพระพรให้พระราชาศูทรกะมีชนมายุยิ่งยืนนานเถิด"
หลังจากการกล่าวถ้อยคำดังนี้แล้ว วีรวรก็ตัดศีรษะของตนให้ขาดออกโดยฟันด้วยดาบเพียงฉับเดียว
พระราชาศูทรกะผู้เป็นสักขีในเหตุการณ์ทั้งหมด จากการแอบดูในที่ซ่อนของพระองค์ ทรงประหลาดพระทัย และรู้สึกงุนงงอย่างยิ่งจากภาพที่ได้เห็น ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ตรัสแก่พระองค์เองว่า "ชายผู้มีค่ายิ่งคนนี้พร้อมด้วยครอบครัวของเขาได้ประกอบกรรมอันยากยิ่งเ้พื่อช่วยเหลือเรา กรรมอันนี้เป็นที่ที่เหลือเชื่อ ยากที่ใคร ๆ ในแผ่นดินโลกจะทำได้อย่างนี้ และเขากระทำเพื่อเราโดยไม่มุ่งหวังการตอบแทนสักนิด ถ้าเรามิได้รู้ถึงบุญคุณของเขา ความเป็นราชันยะของเราจะมีคุณค่าอะไร เราก็คงจะไม่แตกต่างไปจากสัตว์ตัวหนึ่งโดยแท้"
ดำริฉะนี้แลพระวีรราชาก็ชักพระแสงดาบออกจากฝัก เสด็จเข้าไปหาพระเทวี และกล่าวอ้อนวอนด้วยความนอบน้อมว่า
"ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอได้โปรดข้าด้วยเถิด โปรดประทานพรแก่ข้า ขอให้พราหมณ์ชื่อ วีรวร ผู้นี้ซึ่งมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับชื่อของเขา ผู้เสียสละแม้ชีวิตเพื่อความอยู่รอดของข้า ขอให้เขาและครอบครัวจงกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาเถิด"
เมื่อกล่าวกถาดังนี้แล้ว พระราชาเตรียมจะเชือดพระศอด้วยดาบอันคมกล้า ทันใดนั้น ก็มีเสียงลอยมาในอากาศว่า "ช้าก่อนราชะ ข้าพอใจในพลีของท่านแล้ว เอาเถอะ ข้าจะให้พราหมณ์วีรวรกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่พร้อมด้วยภรรยาและบุตรของเขา"
เมื่อได้กล่าวประกาศิตแล้วเสียงสวรรค์ก็หายไป ทันใดวีรวรก็คืนชีพขึ้นมาพร้อมด้วยบุตรชาย บุตรสาว และภรรยาของเขา พอเห็นคนเหล่านี้ฟื้นขึ้นมา พระราชาก็รีบวิ่งเข้าหาที่ซ่อนเร้น กำบังมิให้ใครเห็น ทรงจ้องดูภาพของคนเหล่านั้นด้วยความอัศจรรย์ใจ และมีอัสสุชลเปี่ยมปริ่มด้วยความยินดีเป็นล้นพ้น
ฝ่ายวีรวรเมื่อได้มีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง มีความรู้สึกเหมือนคนตื่นจากหลับแลไปเห็นบุตรและภรรยาต่างก็ยังมีชีวิตอยู่ ก็สับสนในใจไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น จึงถามบุตรและภรรยาว่า
"พวกเจ้าถูกไฟเผาไหม้จนเป็นเถ้าถ่าน แล้วกลับฟื้นขึ้นมาอีก เป็นไปได้อย่างไร ข้าก็เหมือนกัน จำได้ว่าข้าตัดหัวตัวเองไปแล้วหลังจากที่เผาศพพวกเจ้า แล้วนี่ข้ากลับมีชีวิตขึ้นมาอีก นี่จะเป็นมายาที่หลอกตาข้าหรือไร หรือว่าพระแม่เจ้าโปรดให้เรารอดจากตายด้วยความกรุณาของพระองค์ ช่างน่าอัศจรรย์เสียจริง ๆ"
เมื่อได้ฟังดังนี้ภรรรยาและบุตรจึงกล่าวว่า "ที่เราได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งนี้ คงจะเป็นด้วยอำนาจของพระเทวีบันดาลให้เป็นไประหว่างที่เราหมดสตินั่นเอง"
วีรวรใคร่ครวญดูว่าเรื่องคงจะเป็นไปอย่างที่คนเหล่านั้นพูด มิได้มีข้อสงสัยอีกต่อไป จึงกระทำการบูชาต่อองค์พระจัณฑี แล้วพาครอบครัวกลับไปบ้านมีความยินดีว่าตนได้ปฏิบัติภารกิจเสร็จไปแล้วตามปรารถนาทุกประการ และหลังจากที่พาบุตรภรรยากลับไปบ้านแล้วก็กลับมายืนยามหน้าประตูวัง อันเป็นหน้าที่ประจำของตนในราตรีนั้นนั่นเอง ส่วนพระราชาศูทรกะผู้แลเห็นเหตุการณ์โดยตลอดก็ออกจากที่ซ่อนเสด็จกลับสู่วังและขึ้นไปที่ยอดพระมนเทียร และตะโกนลงมาว่า "ใครอยู่หน้าประตูนั่น" วีรวรได้ยินก็กล่าวด้วยเสียงอันดังว่า "ข้าพระบาทอยู่ที่นี่พระเจ้าข้า โอ ราชะ ตามที่ทรงมีบัญชาให้ข้าพระบาทไปสืบเรื่องหญิงผู้นั้น แต่นางได้อันตรธานไปต่อหน้าต่อตาเมื่อข้าพระบาทแลเห็นนาง ราวกับว่านางคือรากษสี (นางรากษส หรือนางอสูรประเภทหนึ่ง) ตนหนึ่ง หาใช่เป็นคนธรรมดาไม่"
พระราชาได้ฟังคำตอบของวีรวรก็ทรงประหลาดพระทัยมาก เพราะพระองค์เป็นบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด ทรงรำพึงในพระทัยว่า "จริงแท้ทีเดียวบุคคลผู้ประเสริฐ ล้วนเป็นผู้ที่รู้จักตนเองและควบคุมจิตใจได้อย่างลึกซึ้ง เหมือนทะเลอันกว้างใหญ่และลึกสุดหยั่ง เพราะเมื่อเขาประกอบกรณียกิจอันหาใครเปรียบมิได้นั้น แทนที่เขาจะโอ้อวดตนเอง กลับนิ่งเงียบไม่กล่าวอะไรเลย" เมื่อทรงรำพึงดังนี้แล้ว พระราชาก็เสด็จลงมาจากยอดมนเทียรกลับคืนสู่ห้องบรรทมและทรงพักผ่อนตลอดคืน
ในตอนเช้าวีวรถูกตามมาเฝ้าต่อหน้าประชุมชน พระราชาผู้ทรงมีพระทัยอันเปี่ยมไปด้วยความยินดีได้ตรัสแก่ที่ประชุมมนตรีถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืนโดยตลอด ทำให้ทุกคนในท้องพระโรงตื่นเต้นกันมาก ครั้นแล้วพระราชาได้ประทานของขวัญอันล้ำค่าแก่วีรวรเพื่อเป็นเครื่องตอบแทนน้ำใจอันยิ่งใหญ่ คือทรงยกดินแดนเว่นแคว้นลาฏะและกรรณาฏะให้วีวรปกครอง หลังจากนั้นพระราชาสองพระองค์คือ พระเจ้าวีรวรและพระเจ้าศูทรกะ ผู้มีอานุภาพเสมอกันก็ปกครองดินแดนของตนด้วยความสงบสุขสืบมา
เมื่อเวตาลเล่านิทานอันพิสดารสุดขีดจบลง ก็กล่าวแก่พระราชาตริวิกรมเสนว่า "โอ นฤบดี ในเรื่องที่ข้าเล่ามานี้ พระองค์ทรงเห็นว่าใครเป็นผู้ที่กล้าหาญที่สุดในจำนวนคนเหล่านั้น ถ้าพระองค์ทรงทราบและไม่พูด คำสาปที่ข้าเคยกล่าวมาแล้วแต่ต้นก็จะประสบแก่พระองค์โดยแท้"
พระราชาได้ฟังถ้อยคำของเวตาลก็ตรัสว่า "พระราชาศูทรกะนั่นแหละ เป็นผู้ที่กล้าหาญที่สุดในบรรดาคนทั้งหลาย"
เวตาลได้ฟังก็แย้งว่า "คนที่กล้าหาญที่สุดมิใช่วีรวรหรอกหรือ เพราะเขาได้ทำวีรกรรมที่ยากจะหาใครเสมอเหมือนในโลกนี้ และมิใช่ภรรยาของเขาดอกหรือที่กล้าหาญกว่า เพราะเป็นแม่ที่ต้องทนเห็นลูกชายต้องถูกสังเวยไปต่อหน้าต่อตา และมิใช่ลูกชายคือสัตตววรหรอกหรือ แม้จะเป็นเพียงเด็กแต่ก็กล้าพลีชีพของตนเพื่อพระราชาและบิดาของตน นี่ไม่เรียกว่าวีรกรรมอันยอดยิ่งดอกหรือไร ไฉนพระองค์จึงตรัสว่าพระราชาศูทรกะเป็นผู้กล้าหาญยิ่งกว่าคนเหล่านั้นเล่า"
เมื่อได้ยินเวตาลกล่าวดังนั้น พระราชาตริวิกรมเสนก็อธิบายว่า
"เจ้าอย่าพูดอย่างนั้นเลย ก็วีรวรนั้นเป็นคนตระกูลสูง จะอยู่ในครอบครัวใดก็ตาม ว่าตามจริงเขาต้องเป็นหัวหน้าที่มีความรับผิดขอบ รวมทั้งลูกและเมียของเขาก็เช่นเดียวกัน ทุกคนถือเป็นหน้าที่อยู่แล้วที่จะต้องสละขีวิตเพื่อคุ้มครองพระราชาของตน ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากวีรวรจะทำตามหน้าที่ผูกพันกับพระราชาแล้ว นางผู้เป็นภรรยานั้นเล่าก็เป็นหญิงประเสริฐที่เคารพรักสามียิ่งชีวิต หล่อนทำไปเพราะถือเป็นหน้าที่ว่าภรรยาจะต้องดำเนินรอยตามสามีด้วยใจภักดิ์ ส่วนสัตตววรผู้เป็นลูกนั้นเล่าก็เป็นเช่นเดียวกับพ่อและแม่ของตน ย่อมทำตามพ่อแม่ด้วยความรักและความผูกพันโดยแนบแน่นเหมือนเส้นด้ายที่ตีขึ้นมาจากฝ้ายฉะนั้น แต่พระราชาศูทรกะเป็นเยี่ยมเหนือกว่าคนเหล่านั้นทุกคน เพราะพระองค์เป็นผู้พร้อมที่จะพลีชีวิตเพื่อคนรับใช้ของพระองค์ เป็นการเสียสละอย่างกล้าหาญที่พระเจ้าแผ่นดินไม่มีความจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้นเลย"
เมื่อเวตาลได้ยินคำอธิบายจากพระโอษฐ์ของพระราชาเช่นนั้น ก็ผละจากอังสาของพระราชา หายแวบไปทันทีโดยไม่มีใครเห็น และกลับคืนไปสู่ที่เดิมด้วยอิทธิฤทธิ์ของตน ทำให้พระราชาต้องเสด็จกลับทางเดิม เพื่ือไปนำตัวเวตาลกลับมาใหม่

วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

นิทานเวตาล 3

นิทานเรื่องที่๓
พระวีรกษัตริย์ตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปที่ต้นอโศกอีกครั้งหนึ่งเพื่อจับตัวเวตาลเอามา ณ ที่นั้นได้แลเห็นซากศพที่มันสิงอยู่ห้องหัวบนกิ่งอโศก จึงปีนขึ้นไปจับตัวมันพาดไหล่ แล้วเสด็จกลับไปตามทางเดิม ระหว่างทางอันเงียบสงัด เวตาลได้ถือโอกาสกล่าวขึ้นว่า "ข้าแต่วิศามบดี" ข้ารู้สึกประหลาดใจมากที่แลเห็นพระองค์สู้ทนความลำบากเสด็จกลับไปมากลับมาหลายเที่ยว เพื่อจะทำธุระให้แก่คนอื่นโดยใช่เหตุ ข้าจึงคิดว่าจะเล่านิทานสนุก ๆ สักเรื่องหนึ่งถวาย เพื่อเป็นเครื่องปลอบพระทัย ขอทรงฟังเถิด"
แต่ปางบรรพ์มีพระนครอันใหญ่และสวยงามชื่อปาฏลีบุตร มีพระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงนามว่าพระเจ้าวิกรมเกศริน ซึ่งทรงมีคุณธรรมอันไพศาล พอ ๆ กับท้องพระคลังของพระองค์ซึ่งอุดมด้วยมณีรัตนนับไม่ถ้วน พระองค์มีนกแก้วตัวหนึ่ง ซึ่งมีความเฉลียวฉลาดอย่างอัศจรรย์ราวกับเทพยดาเข้าดลใจแลมีความชำนิชำนาญในศาสตร์ทั้งปวง เหตุที่มันต้องมาเกิดเป็นนกในชาตินี้ก็เพราะมันถูกสาปด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นกแก้วตัวนี้มีชื่อว่าวิทัคธจูฑามณี มันได้ทูลแนะนำพระองค์ให้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงผู้ทรงศักดิ์แห่งแคว้นมคธชื่อจันทรประภา เจ้าหญิงเองก็ทรงเลี้ยงนกไว้เป็นคู่พระทัยตัวหนึ่งเป็นนกขุนทองตัวเมียมีชื่อว่า โสมิกา เป็นนกที่เจนจบในวิชาการต่าง ๆ ทั้งนกแก้วและนกขุนทองถูกเลี้ยงไว้ในกรงทองกรงเดียวกันราวกับเป็นคู่ผัวเมียฉะนั้น
วันหนึ่งนกแก้วเกิดความกำหนัดในนางนกโสมิกาจึงกล่าวแก่นางว่า "มาแต่งงานกับข้าเถิด เจ้ารูปงาม ไหน ๆ เราก็หลับนอนและได้รับการเลี้ยงดูในกรงเดียวกันแล้ว"
นางนกขุนทองได้ฟังก็ตอบว่า "อย่าเลย ข้าไม่เคยพิศวาสในผู้ชายหน้าไหนทั้งนั้น เพราะขึ้นชื่อว่าผู้ชายแล้วล้วนแต่ชั่วช้าและใจร้าย" ทั้งสองต่างก็โต้เถียงกันอย่างไม่ลดละ ในที่สุดเกิดท้าทายและพนันกันว่า ถ้านกแก้วชนะจะได้นกขุนทองเป็นเมีย และถ้านางนกขุนทองชนะ นกแก้วจะต้องกลายเป็นทาสของนางตลอดไป เมื่อตกลงกันดังนี้แล้วก็พากันไปเฝ้าเจ้าชาย ทูลเรื่องให้ฟังและขอให้ตัดสินอย่างยุติธรรม ขณะนั้นเจ้าชายประทับอยู่ในท้องพระโรงธารกำนัลของพระราชบิดา เมื่อได้ฟังคดีวิวาทของนกทั้งสอง จึงตรัสแก่นางนกโสมิกาว่า
"เจ้าจงเล่าให้ข้าฟังสิว่า เหตุใดจึงว่าผู้ชายเป็นคนอกตัญญู"
นางนกได้ฟังดังนั้นก็กล่าวว่า "ขอทรงฟังเถิด" แล้วก็ลงมือเล่าเรื่องประกอบข้อกล่าวหาของตนดังต่อไปนี้
(เรื่องแทรกของนางนกโสมิกา)
พระเจ้าข้า ในสมัยโบราณมีพระนครชื่อ กามันทกี ในเมืองนี้มีพ่อค้าคนหนึ่งร่ำรวยมาก มีชื่อว่า อรรถทัตต์ พ่อค้ามีลูกชายอยู่เพียงคนเดียวชื่อ ธนทัตต์ เมื่อไวศยะผู้เศรษฐีถึงแก่กรรมลง ลูกขายก็ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ผลาญทรัพย์ที่มีอยู่แม้มากมายมหาศาลให้หดเหี้ยนไป ธนทัตต์คบเพื่อนที่ล้วนแต่ชั่วช้าเลวทราม ซึ่งคนชั่วเหล่านี้ได้ชักจูงให้เขาประพฤติชั่วต่าง ๆ มีการเล่นการพนันและอื่น ๆ ต่อมามิช้าทรัพย์สมบัติก็มลายไปหมด ชายหนุ่มมีความละอายที่กลายเป็นคนยากจนเพราะรักษาสมบัติของตัวเองไม่ได้ จึงละถิ่นฐานบ้านเรือนออกตุหรัดตุเหร่ไปในดินแดนต่าง ๆ
ในระหว่างทางที่ผ่านไป ชายหนุ่มมาถึงเมืองแห่งหนึ่ง ชื่อจันทนปุระ และบังเกิดความหิวโหยเหนื่อยล้าเป็นอย่างยิ่ง จึงเข้าไปในบ้านนายวาณิชผู้หนึ่งเพื่อขออาหารกิน และราวกับโชคบันดาลให้เป็นไป เผอิญพ่อค้าผู้นั้นไม่มีบุตรชายและเห็นธนทัตต์เป็นชายหนุ่มรูปงามท่าทางเป็นผู้ดีมีสกุล ก็บังเกิดความสนใจ จึงไต่ถามเรื่องราวความเป็นมาของเขา เมื่อได้ทราบว่าเป็นไวศยะเหมือนกับตน นายวาณิชผู้เฒ่าก็รู้สึกยินดีจึงรับชายหนุ่มไว้เป็นบุตรบุญธรรม และยกธิดาชื่อรัตนวลีให้เป็นภรรยาอีกด้วย ธนทัตต์ก็อยู่บ้านพ่อตามีความสุขสำราญตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
กาลเวลาผ่านไป ธนทัตต์ผู้อยู่บ้านพ่อตาอย่างสุขสบาย มีเงินจับจ่ายใช้สอยไม่ขาดมือก็เกิดความดิ้นรนขึ้นมาอีก คิดจะกลับบ้านเดิมเพื่อจะเอาทรัพย์ไปเล่นการพนันให้สนุกตื่นเต้นตามนิสัยสันดานเดิมของตนซึ่งอดไม่ได้ จึงขออนุญาตพ่อตาเดินทางกลับบ้านเดิมและพาภรรยาไปด้วย นายวาณิชเฒ่ามีบุตรสาวเพียงคนเดียวก็มีความอาลัยไม่อยากจะให้ไป แต่เมื่อขัดไม่ได้ก็จำใจต้องให้ตามสามีไป นางแต่งเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ไปเต็มที่ มีพี่เลี้ยงเฒ่าติดตามไปเป็นเพื่อน ทั้งสามคนก็ออกเดินทางไป หลังจากที่เดินมาพักใหญ่ถึงป่าเปลี่ยว ซึ่งน่าจะเป็นที่อยู่ของพวกโจร ขายหนุ่มจึงกล่าวแก่นางผู้ภรรยาว่า เพื่อความปลอดภัยขอให้นางถอดเครื่องประดับมามอบให้ตนดูแล เพราะถิ่นนี้เป็นถิ่นโจร เมื่อได้รัตนาภรณ์อันมีค่ามาแล้ว ชายชั่วก็เก็บเข้ารวมกับห่อสมบัติของตนอนิจจาเอ๋ย ขอให้ตรองดูเดิดว่าเจ้าผัวจำแลงนี้มันชั่วชาติเพียงไร มันติดการพนันจนโงหัวไม่ขึ้น คนอย่างนี้ใจแข็งและคมกริบเหมือนดาบ
เจ้าโจรใจฉกาจเมื่อหลอกได้ทรัพย์ของภรรยาแล้ว ก็คิดจะฆ่านางเสียเพื่อปิดปาก จึงผลักนางกับแม่เฒ่าลงไปอยู่ในเหวแล้วรีบเดินทางต่อไป หญิงชรานั้นตายในเหวแต่นางบุตรสาวเศรษฐีหาได้ตายไม่ เพราะเมื่อตกลงไปในเหวนั้น เผอิญนางตกลงไปบนซุ้มไม้เลื้อยที่เกี่ยวพันกันราวกับลงไปอยู่ในตาข่าย นางจึงรอดชีวิตไป นางค่อยไต่เชิงเถาวัลย์ขึ้นมาจนถึงปากเหว มีความรู้สึกเหนื่อยอ่อนแทบจะขาดใจ นางค่อยลัดเลามาจนถึงทางที่นางผ่านมา และล้มลุกคุกคลาน โซซัดโซเซมาตามทางจนในที่สุดกลับมาถึงบ้านโดยปลอดภัย แต่ร่างกายของนางฟกช้ำดำเขียวเจ็บระบมไปหมด เมื่อนางกลับมาถึงบ้าน บิดามารดาของนางตกใจมาก ไต่ถามสาเหตุด้วยความสงสัย นางผู้มีคุณธรรรมจึงกลับเรื่องเสียใหม่โดยกล่าวแก่บิดามารดาว่า
"พวกเราถูกโจรปล้นระหว่างทาง สามีของลูกถูกโจรมันจับมัดลากเอาตัวไป ยังไม่รู้ชะตากรรมเลย แม่เฒ่าถูกฆ่าตาย แต่ลูกรอดชีวิตมาได้เพราะเมื่อถูกเหวี่ยงลงเหวนั้น เผอิญตกไปค้างอยู่บนซุ้มไม้เลื้อยจึงไต่ขึ้นมาได้ ถึงปากเหวก็สลบเหมือด แต่นักเดินทางกลุ่มหนึ่งช่วยเอาไว้ โชคยังดีอยู่จึงกลับมาถึงบ้านได้"
เมื่อนางรัตนาวลีเล่าเรื่องจบ เศรษฐีผู้เป็นบิดาและมารดาก็กล่าวปลอบโยนนางต่าง ๆ มิให้เสียใจในเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะการที่นางเอาชีวติรอดมาได้ก็นับว่าโชคช่วยอย่างมากแล้ว นางอยู่ในบ้านพ่อแม่เรื่อยมา แต่ไม่มีความสุขนักเพราะเฝ้าแต่คิดถึงสามีอันเป็นที่รักไม่เว้นวาย
ฝ่ายธนทัตต์ผู้สามีซึ่งเดินทางกลับไปเมืองที่ตนเคยอาศัยอยู่พร้อมด้วยทรัพย์สินของภรรยานั้น ต่อมามิช้าเขาก็ถลุงเงินจนหมดเกลี้ยงด้วยการเล่นการพนันอย่างหามรุ่งหามค่ำ และปรนเปรอตัวเองด้วยของกินชนิดเลิศและสุรานารีไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อเงินหมดก็คิดหาทางที่จะแสวงหาอีก โดยมีความคิดว่า "เราจะกลับไปบ้านพ่อตา อ้อนวอนขอเงินเขามาสัก้อนหนึ่งเอาไปทำทุน เราจะบอกแก่เขาว่า ลูกสาวของเขายังพักอยู่ที่บ้านของเรา มิได้เอามาด้วย" เมื่อทำกำหนดแผนการเรียบร้อยแล้ว ชายหนุ่มก็เดินทางไปที่บ้านพ่อตา พอเข้าประตูบ้านภรรยาของเขาแลเห็นแต่ไกลก็ดีใจ วิ่งมาต้อนรับและทรุดตัวลงคารวะอย่างนอบน้อม ทั้งที่รู้อยู่ว่าเขาเป็นโจรใจอำมหิต ความจริงก็เป็นดังนี้แหละ ผู้หญิงดีนั้นแม้ผัวจะชั่วชาติสักปานใด นางก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงความรู้สึกเคารพรัก ที่นางมีต่อเขา เมื่อเห็นนางวิ่งเข้ามหาโดยไม่คาดฝัน ชายหนุ่มก็ตกใจแทบสิ้นสติ แต่นางก็กล่าวปลอบโยนเขาให้คลายใจ โดยกล่าววว่า นางได้สร้างเรื่องโกหกแก่บิดมารดาของนางว่า นางถูกโจรปล้นจับเอาตัวสามีไปและผลักนางตกเหว แต่นางเอาชีวิตรอดมาได้และยังไม่รู้ชะตากรรมของสามีว่าเป็นอย่างไร เมื่อชายหนุ่มได้ฟังก็หายวิตก เข้าไปสู่บ้านพ่อตาแม่ยายของตนพร้อมด้วยภรรยา ข้างพ่อตาแม่ยายแลเห็นเข้า ก็ดีอกดีใจที่ลูกเขยกลับมาได้ จึงเรียกประชุมญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงจัดการฉลองอย่างใหญ่โตเป็นการรับขวัญลูกเขย และประกาศว่า "ช่างน่ายินดีนี่กระไรที่ลูกเขยของเราถูกโจรจับไปแต่หนีรอดมาได้ในที่สุด"
หลังจากนั้นธนทัตต์ก็อาศัยอยู่กับนางรัตนาวลีในบ้านพ่อตาแม่ยายด้วยความสุข มีเงินทองใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่เจ้าประคุณเอ๋ย คืนหนึ่งอ้ายคนชั่วเห็นได้โอกาสก็แอบฆ่าภรรยาของตนตอนที่นางหลับอยู่ กวาดเอาทรัพย์สินและของมีค่าต่าง ๆ หนีกลับไปสู่ถิ่นเดิมของตน มีชีวิตอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่มีใครได้ข่าวคราวอีกนับแต่นั้น
"ฉะนั้นเราอาจจะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า ผู้ชายมันก็ชั่วเหมือนกันทั้งโลกนั่นแหละ" นางนกขุนทองสรุปทิ้งท้ายอย่างแค้นเคือง
พระราชาจึงหันมาตรัสแก่นกแก้วว่า "คราวนี้ถึงทีเจ้าแล้วละ มีอะไรจะเถียงไหม"
นกแก้วได้ยินก็กล่าวว่า "โอ เทวะ ขึ้นขื่อว่าผู้หญิงแล้ว ล้วนมีจริตเหลือที่จะทนทาน เป็นคนทุศีล และชั่วช้าสามานย์เหมือนกันหมด ขอได้โปรดสดับเรื่องราวที่ข้าพระบาทจะเล่าถวายดังต่อไปนี้"
(เรื่องแทรกของนกแก้ว วิทัคธจูฑามณี)
มีนครหนึ่งชื่อหรรษวดี ในนครนี้มีไวศยะที่มีชื่อเสียงเลื่องลือคนหนึ่งมีชื่อว่า ธรรมทัตต์ มีทรัพย์หลายสิบโกฏิ พ่อค้าผู้นี้มีธิดาคนหนึ่งชื่อ วสุทัตตา มีความงามหาที่เปรียบมิได้ เป็นที่รักของบิดาปานชีวิต ต่อมาเศรษฐีจัดการแต่งนางกับพ่อค้าหนุ่มผู้มั่งคั่งชื่อ สมุทรทัตต์ ซึ่งมีฐานะเท่าเทียมกันทั้งทรัพย์สมบัติและรูปสมบัติอันงามพร้อม เป็นที่ต้องตาของสตรีทั้งหลายซึ่งทอดสายตาให้ด้วยความหลงใหลราวกับนกจโกระที่คลั่งไคล้ต่อแสงจันทร์ฉะนั้น ไวศยะหนุ่มผู้นี้มาจากเมืองตามรลิปติ ซึ่งเป็นแหล่งของคนดีมีเกียรติยศทั้งหลาย
ครั้งหนึ่งนางวสุทัตตตาพักอยู่ที่บ้านพ่อของนางในขณะที่สามีกลับไปทำธุรกิจในแว่นแคว้นของตน นางแลเห็นชายหนุ่มผู้หนึ่งเดินทางมาแต่ระยะไกล ชายผู้นั้นมีความงดงามมาก บังเกิดความพิศวาสหลงใหลด้วยอำนาจของมาร (ผู้เฒ่า เป็นฉายานามของกามเทพ) จึงแอบเชื้อเชิญเขาอย่างลับ ๆ และทำเขาให้เป็นชู้ของนาง หลังจากนั้นนางก็แอบมาพบเขาทุก ๆ คืน มีความคลั่งไคล้แต่ชายชู้ผู้เดียวโดยมิเสื่อมคลาย
ครั้นแล้ววันหนึ่ง สามีของนางก็กลับมาจากเมืองของเขา การปรากฏตัวของเขายังความปลาบปลื้มแก่บิดามารดาของนางอย่างยิ่ง ต่างก็ต้อนรับเขาอย่างกุลีกุจอ ในวันแห่งความรื่นรมย์นั้น แทนที่นางจะสดชื่นรื่นเริง กลับไม่พูดอะไรกับสามีเลย และเมื่ออยู่สองต่อสองกับนาง นางก็แกล้งทำเป็นหลับ ไม่ไยดีต่อสามี ในใจนางมีแต่ความโหยไห้คิดถึงแต่หนุ่มชายชู้เท่านั้น ส่วนสามีของนางมึนเมาไม่ได้สติเพราะเสพสุรา ประกอบกับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเพราะการเดินทางมาตลอดวันทำให้เขาม่อยหลับไป
ขณะนั้นมีโจรคนหนึ่งแอบเจาะช่องกำแพงเล็ดลอดเข้ามาในบ้าน ประจวบกับนางวสุทัตตาลุกขึ้นจากเตียง แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอันงดงาม ประดับดัวยรัตนาภรณ์แพรวพราวระยับเดินออกมาจากห้องนอนโดยไม่ทันเห็นโจร มุ่งหน้าออกไปยังสถานที่ที่นางนัดไว้กับชายชู้ เมื่อโจรแลเห็นนางรีบลุกลี้ลุกลนออกไปก็สงสัย กล่าวแก่ตนเองว่า "นางผู้นี้ออกไปจากห้องในเวลาดึกดื่นเที่ยงคืนแต่งตัวงดงามด้วยปิลันธนาภรณ์อันมีค่าซึ่งเราตั้งใจจะเข้ามาขโมยพอดี ดีละเราจะสะกดรอยดูว่านางจะไปไหน" เมื่อโจรตั้งใจดังนี้แล้วก็แอบออกไปจากห้องติดตามนางวสุทัตตาไปโดยมิให้คลาดสายตา และนางไม่ทันสังเกต
นางวสุทัตตาถือช่อดอกไม้และของขวัญอันมีค่าเดินออกจากบ้านไป มีโจรติดตามไปอย่างลับ ๆ เข้าไปสู่อุทยานแห่งหนึ่งนอกพระนครออกไปไม่ไกลนัก ที่อุทยานั้นเอง นางได้เห็นชู้รักของนางถูกแขวนคอห้อยอยู่กับกิ่งไม้ด้วยเชือกเส้นหนึ่ง เนื่องจากราชบุรุษ(ตำรวจ) มาพบเขาด้อม ๆ มอง ๆ อยู่ในสวนในเวลากลางคืน จึงจับเขาแขวนคอเป็นการลงทัณฑ์เพราะคิดว่าเขาเป็นขโมย นางซวนกายผงะหงายด้วยความตกใจแทบสิ้นสติ ร้องออกมาว่า "ฉิบหายแล้วเรา" พร้อมกับทรุดกายลงนั่งกับพื้นดินร่ำไห้ด้วยความรักและเสียดาย
เมื่อค่อยสร่างโศกได้สติขึ้นนางจึงปีนขึ้นไปบนกิ่งไม้ แก้เชือกออกปล่อยร่างชู้รักลงไปบนพื้น แล้วลงมายกศพของเขาขึ้นวางในท่านั่งแล้วลูบไล้ร่างกายของเขาด้วยวิเลปนะของหอม และประดับด้วยบุปผามาลัยอันวิจิตร และถึงแม้ร่างของเขาจะปราศจากชีวิตแล้ว นางก็ยังโอบกอดเขาไว้ด้วยความเสน่หา ร่ำไห้เหมือนใจจะขาด และในความโศกรันทดนั้นเอง นางจับหน้าของเขาให้เงยขึ้นและประจงจูบอย่างทะนุถนอม ขณะนั้นเวตาลเข้าสิงศพอยู่ เห็นนางยื่นหน้าเข้ามาใกล้ก็กัดจมูกนางในทันที นางวสุทัตตาตกใจรีบผละหนีไป แต่แล้วก็เกิดความงุนงงจับต้นชนปลายไม่ถูก จึงเดินกลับมาใหม่เพื่อจะดูให้แน่ว่าชู้รักของนางยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า ครั้นเห็นเวตาลละร่างไปแล้ว และร่างนั้นตายสนิทเคลื่อนไหวต่อไปอีกไม่ได้ นางก็ผละจากศพนั้นเดินทางกลับไปบ้าน ร้องไห้ด้วยความกลัวและอัปยศอดสู
ระหว่างนั้นโจรซึ่งแฝงกายแอบดูอยู่ ได้เห็นเหตุการณ์โดยตลอดก็กล่าวแก่ตัวเองว่า
"นางหญิงชั่วมาทำอะไรที่นี่ อนิจจา จิตใจของผู้หญิงนี้ช่างน่ากลัวและดำราวกับความมืดของบ่อน้ำลึกสุดหยั่งที่ใครตกลงไปแล้วไม่มีวันจะได้กลับขึ้นมาได้อีก เราสงสัยนักว่านางจะทำอย่างไรนับแต่นี้"
หลังจากรำพึงดังนี้แล้ว โจรก็แอบย่องตามนางกลับไปทางเดิมด้วยความพิศวงว่านางจะแก้สถานการณ์ด้วยวิธีใด
นางวสุทัตตากลับไปถึงบ้านก็ตรงเข้าไปในห้องนอน เห็นสามียังหลับอยู่ก็ทำตีอกชกหัวร้องไห้ร้องห่ม แผดเสียงว่า "ช่วยด้วย ช่วยด้วย ไอ้คนชาติชั่วผัวเลวทรามมันกัดจมกูข้าขาดแล้ว ข้าไม่ได้ทำความผิดอะไรแม้แต่สักนิด" ฝ่ายสามีของนางพร้อมด้วยพ่อตาและบรรดาคนใช้ได้ยินเสียงนางร้องตะโกนดังนั้น ต่างตกใจตื่นและวิ่งกรูกันมาด้วยท่าทางตื่นเต้น บิดานางวสุทัตตาแลเห็นลูกสาวของนางที่ถูกกัดมาใหม่ ๆ ก็ปักใจเชื่อว่าเป็นการกระทำของลูกเขยตน จึงให้บ่าวไพร่ช่วยกันจับตัวมัดและกล่าวหาว่าชายผู้เคราะห์ร้ายเป็นคนทำร้ายธิดาของตน ฝ่ายสมุทรทัตต์ถึงแม้จะถูกมัดและถูกกล่าวหาดังนั้นก็ยังคงนิ่งเฉยมิได้ตอบโต้แต่ประการใด ราวกับเป็นใบ้ พ่อตาและคนอื่น ๆ ต่างก็หันหลังให้แก่เขาด้วยความชิงชัง
เมื่อนายโจรได้เห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเช่นนั้นก็ค่อย ๆ เลี่ยงหลบไปเงียบ ๆ และเมื่อคืนแห่งความโกลาหลดังกล่าวได้ผ่านไปแล้ว ถึงเวลาเช้าบุตรไวศยะก็ถูกลากตัวไปเฝ้าพระราชาพร้อมด้วยนางผู้ภรรยาซึ่งมีจมูกโหว่เพราะถูกกัด เมื่อพระราชาได้ฟังเรื่องราวฟ้องร้องดังนั้น มิทันได้พิจารณาโดยรอบคอบก็สั่งให้เพชฌฆาตนำตัวบุตรพ่อค้าไปประหารในข้อหาว่า ทำร้ายภรรยาของตนให้พิการ ทั้งนี้โดยมิฟังข้อแก้ตัวใด ๆ เลย ขณะที่ชายหนุ่มถูกนำตัวไปยังตะแลงแกงเพื่อประหารชีวิต และกลองตีรัวเป็นสัญญาณนั้น ก็มีโจรผู้หนึ่งปรากฏตัวขึ้นและกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ผู้เป็นราชบุรุษว่า "ท่านไม่ควรจะประหารชายผู้นี้เพราะเขามิได้กระทำผิดเลยสักนิด ข้าเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์โดยตลอดแต่ผู้เดียว พาข้าไปเฝ้าพระราชาโดยเร็วเถิดเพื่อจะได้ทูลความจริงให้ทรงทราบ"
เมื่อได้ยินโจรเล่าวดังนั้น บรรดาราชบุรุษก็พาโจรไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อได้รับราชานุญาตแล้ว โจรก็กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบโดยตลอดตั้งแต่ต้น และกล่าวเสริมว่า "ถ้าพระองค์ไม่เชื่อข้าพระบาทก็โปรดทอดพระเนตรจมูกของผู้หญิงคนนี้ในปากของศพชายชู้ของนางเถิด"
พระราชาได้ฟังดังนั้นก็ส่งราชบุรุษไปดูสถานที่เกิดเหตุก็ได้ทราบความจริงจึงกลับคำพิพากษาให้งดโทษประหาร แต่สั่งให้เนรเทศหญิงชั่วไปให้พ้นแว่นแคว้น พร้อมกับตัดใบหูเสียงทั้งสองข้าง ยิ่งกว่านั้นยังโปรดให้ริบทรัพย์ของผู้เป็นบิดานางเสีย และสำหรับนายโจรนั้น พระราชาทรงโปรดปรานว่าเป็นคนเฉลียวฉลาดและกล้าหาญจึงตั้งให้เป็นหัวหน้าตุลาการของพระนคร
"ได้โปรดเกล้า ทรงเห็นหรือยังว่าผู้หญิงนั้นโดยธรรมชาติเป็นคนชั่วร้ายและเจ้าเล่ห์แสนกลเพียงใด" นกแก้วกล่าวสรุปในที่สุด
พอเล่าเรื่องจบลง นกแก้วก็พ้นจากคำสาปของพระอินทร์ กลายร่างเป็นคนธรรพ์รูปงามชื่อ จิตรรถ เหาะไปสู่สรวงสวรรค์ ขณะเดียวกันคำสาปของนางนกขุนทองก็เสื่อมลง นางนกโสมิกาก็กลายร่างเป็นนางเทพอัปสรชื่อ ติโลตตมา กลับคืนไปถวายการบำเรอท้าววัชรินทร์ในสวรรค์เช่นเดิม อย่างไรก็ดี กรณีพิพาทของนกทั้งสองก็ยังไม่ได้ตัดสินในท้องพระโรง
 
เมื่อเวตาลเล่าเรื่องจบลง ก็กล่าวแก่พระราชาว่า "ขอพระองค์โปรดทรงวินิจฉัยด้วยเถิดว่า ฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงพูดถูก ถ้าพระองค์ทราบแล้วมิแสดงความเห็น พระเศียรของพระองค์ก็จะต้องแตกเป็นเสี่ยง ๆ โดยพลัน"
ฝ่ายพระราชาเมื่อถูกเวตาลซึ่งห้อยอยู่บนบ่ากล่าวถ้อยคำดังนั้นก็ตรัสว่า "นางจอมมายาหญิงในเรื่องของนกแก้วนั่นแหละเป็นหญิงที่ชั่วช้าที่สุด เพราะว่าผู้ชายอาจจะหลงทำผิดได้ชั่วครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ผู้หญิงนั้นว่าโดยความจริงเป็นคนชั่วในทุกโอกาส"
เมื่อพระเจ้าแผ่นดินตรัสดังนี้ เวตาลก็หลุดลอยหนีไปจากพระอังสาของพระองค์ กลับไปยังที่เดิม และพระราชาก็ต้องเสด็จย้อนไปทางเดิมเพื่อไปจับตัวเวตาลกลับมาใหม่

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

นิทานเวตาล 2

นิทานเวตาลเรื่องที่ ๒
พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปที่ต้นอโศกอีกครั้งหนึ่งเพื่อจับตัวเวตาล เมื่อเสด็จไปถึงที่นั้น ทรงสอดส่ายพระเนตรดูโดยรอบในความมืดอันมีแสงไฟเรือง ๆ จากจิตกาธานส่องมา ในที่สุดก็พบศพนั้นนอนหงายอยู่บนพื้นดินกำลังกรนอยู่ จึงเข้าไปจับตัวศพนั้นซึ่งมีเวตาลสิงอยู่ตวัดขึ้นบนบ่า และรีบดำเนินไปอย่างรวดเร็วเพื่อไปยังที่ซึ่งนัดไว้กับโยคีศานติศีล เวตาลซึ่งแขวนอยู่บนบ่าก็เริ่มกล่าวทำลายความเงียบขึ้นว่า
"โอ ราชะ ภาระที่พระองค์ต้องทนแบกไว้นี้ช่างสาหัสสากรรจ์เสียจริง ๆ ไม่เหมาะสมแก่พระองค์เลย ถ้ากระไรข้าจะเล่านิทานให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง เพื่อจะได้ทรงเพลิดเพลิน ขอให้ทรงฟังเถิด"
บนฝั่งของแม่น้ำยมุนา ณ ที่แห่งนั้น เป็นเขตคามที่กำหนดไว้สำหรับพวกพราหมณ์โดยเฉพาะ มีชื่อว่าหมู่บ้านพรหมสถล ในหมู่บ้านนี้มีพราหมณ์ผู้หนึ่งอาศัยอยู่ มีชื่อว่า อัคนิสวามิน เป็นผู้ที่เจนจบในคัมภีร์พระเวททั้งปวง (คือคัมภีร์ไตรเวท ประกอบด้วยคัมภีร์ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท ต่อมาภายหลังได้เพิ่มเข้าไปอีกคัมภีร์หนึ่ง คืออถรรพเวท จึงเรียกว่า จตุรเวท) พราหมณ์ผู้นี้มีบุตรสาวแสนสวยผู้หนึ่งชื่อว่า มันทารวดี ความงามของนางล้ำเลิศหาที่เปรียบมิได้ราวกับเป็นผลงานที่พระพรหมทรงสรรค์สร้างขึ้น และเมื่อนางได้กำเนิดมาแล้วก็ดูเหมือนว่าท้าวธาดาเธอทรงสิ้นเยื่อใยในเทพอัปสรทั้งปวงโดยสิ้นเชิง เมื่อนางเจริญวัยเป็นสาวแรกรุ่นนั้นปรากฏว่ามีพราหมณ์หนุ่มสามคนเดินทางมาจากแคว้นกันยกุพชะ พราหมณ์เหล่านี้เป็นผู้แตกฉานในศาสตร์ทั้งปวงเท่าเทียมกัน และพราหมณ์แต่ละคนก็มุ่งมาสู่ขอมันทารวดีโฉมงามจากบิดาของนาง ต่างคนต่างก็สาบานว่าถ้านางแต่งงานกับคนอื่น ตนก็จะฆ่าตัวตาย แต่บิดาของนางก็มิได้ยกนางให้แก่ใคร เพราะเกรงว่าถ้ายกให้คนหนึ่ง อีกสองคนก็จะฆ่าตัวตายเสีย ดังนั้นนางจึงคงอยู่เป็นโสดเรื่อยมามิได้คิดแต่งงานกับใคร และพราหมณ์ทั้งสามก็ยังคงพักอยู่ที่นั่นเรื่อยมา ทั้งกลางวันและกลางคืนก็เฝ้าแต่มองดูพักตร์ของนางอันงามเปล่งปลั่งราวกับสมบูรณจันทร์ (พระจันทร์เต็มดวง) ต่างก็ไม่ได้กินไม่ได้นอน ทำตนราวกับนกจโกระ (นกเขาไฟ ตามนิยายโบราณกล่าวว่า "ยังชีพอยู่ได้ด้วยแสงจันทร์") ซึ่งอาศัยแสงจันทร์เป็นอาหารฉะนั้น
ต่อมานางมันทารวดีล้มป่วยเป็นไข้อย่างรุนแรง นางมิอาจจะทนทานต่อพิษไข้ได้ก็ถึงแก่ความตาย พราหมณ์หนุ่มทั้งสามมีความเศร้าโศกอย่างยิ่ง นำร่างอันเป็นศพของนางไปสู่ป่าช้า สวดให้แก่นางด้วยความรักและเผาศพนางที่จิตกาธาน พราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งสร้างกระท่อมน้อยขึ้นตรงที่ใกล้ เอาเถ้าถ่านอังคารของนางมาโปรยลงบนเตียงและนอนทับบนพื้น เขายังชีพไปวันหนึ่ง ๆ ด้วยการถือกะลาขออาหารกินตามมีตามเกิด พราหมณ์คนที่สองรวบรวมกระดูกของนางเอาไปทิ้งในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ ส่วนพราหมณ์คนที่สามถือเพศเป็นโยคีท่องเที่ยวพเนจรไปยังดินแดนต่าง ๆ
โยคีเดินทางผ่านแว่นแคว้นต่าง ๆ เรื่อยมาจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อวัชรโลก จึงเข้าไปภิกขาจารที่บ้านพราหมณ์ผู้หนึ่ง ท่านพราหมณ์ได้ต้อนรับเขาด้วยอัธยาศัยอันดียิ่ง เขาจึงนั่งบริโภคอาหารในบ้านพราหมณ์ผู้นั้น ขณะนั้นมีเสียงทารกร้องจ้าขึ้นมาและร้องติดต่อกันไม่หยุด ไม่มีใครจะห้ามให้หยุดได้ นางพราหมณีผู้เป็นมารดาบันดาลโทสะจึงจับทารกขึ้นมาแล้วโยนโครมลงไปในกองไฟ เด็กถูกไฟเผาจนกลายเป็นเถ้าถ่าน โยคีผู้นั่งกินอาหารอยู่เงียบ ๆ แลเห็นเหตุการณ์โดยตลอดก็ตกใจ รู้สึกสยดสยองจนขนหัวลุกชัน ร้องออกมาว่า "พุทโธ่ พุทโธ่เอ๋ย นี่ข้าเข้ามาในบ้านของพราหมณ์รากษสหรือนี่ ข้าไม่กินอะไรแล้ว เพราะการเสพอาหารในบ้านของพราหมณ์ปีศาจเช่นนี้เป็นบาปกรรมอย่างมหันต์ไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดใดก็ตาม"
ขณะเมื่อเขากล่าวดังนี้ พราหมณ์ผู้คฤหบดี (เจ้าของบ้าน) จึงพูดว่า
"อย่าตกอกตกใจไปเลย ท่านจงคอยดู ข้าจะชุบชีวิตเด็กคนนี้ขึ้นใหม่ โดยการร่ายมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ ดูสิ"
เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว มหาพราหมณ์ก็เดินไปหยิบคัมภีร์มหาเวทอันศักดิ์สิทธิ์มาเปิดออกแล้วสวดมนตร์บทหนึ่ง ขณะที่สวดอยู่ก็เอาขี้เถ้าโปรยลงในกองไฟ พอสวดจบลง เด็กก็ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ มีลักษณะและองคาพยพ (อวัยวะ) เหมือนเดิมทุกประการ พราหมณ์อาคันตุกะเห็นเหตุการณ์เป็นดังนั้นก็ค่อยคลายใจ ลงมือเสพอาหารต่อไปตามปกติ พราหมณ์เจ้าของบ้านเมื่อร่ายมนตร์เสร็จแล้ว ก็เอาคัมภีร์ไปเก็บไว้ที่เดิม ลงมือกินอาหารเสร็จแล้วก็เข้านอนในราตรี พราหมณ์อาคันตุกะก็กระทำเช่นเดียวกัน
พอเห็นพราหมณ์เจ้าของบ้านและภรรยานอนหลับแล้ว โยคีหนุ่มก็ลุกขึ้นค่อย ๆ ย่องไปที่เก็บคัมภีร์และหยิบเอาไป ตั้งใจจะเอาไปใช้ชุบชีวิตให้แก่นางมันทารวดีผู้เป็นที่รัก โยคีหนุ่มออกจากบ้านนั้นไปพร้อมด้วยคัมภีร์มหาเวท รีบเร่งเดินทางทั้งกลางวันและกลางคืน มุ่งกลับไปยังสุสานที่ตนและพรรคพวกช่วยกันเผาศพนางครั้งนั้น พอมาถึงป่าช้าก็แลเห็นพราหมณ์คนที่สองเดินทางกลับมาแล้วหลังจากที่เอาอัฐิของนางไปโยนแม่น้ำคงคาเพื่อให้นางไปสู่สุคติ และที่สุสานนั้นเช่นกันก็แลเห็นพราหมณ์ผู้เอาอังคารธาตุของนางมาโปรยนอน กำลังหลับอยู่ในกระท่อมที่สร้างไว้ จึงพูดกับพราหมณ์สหายให้รื้อกระท่อมทิ้งเสีย เพื่อตนจะได้ทำพิธีร่ายมนตร์มฤตสัญชีวินี (มนตร์ชุบคนตายให้ฟื้นคืนชีวิต พระศุกร์ได้มาจากพระศิวะและสืบต่อกันมาถึงคนรุ่นหลัง) ชุบชีวิตนางขึ้นใหม่ เมื่อรื้อกระท่อมทิ้งแล้วเถ้าถ่านของนางก็ตกเรี่ยรายอยู่บนพื้นดิน โยคีหนุ่มเมื่อเห็นทุกสิ่งพร้อมแล้วก็เปิดคัมภีร์ร่ายมนตร์อันศิกดิ์สิทธิ์พร้อมกับโปรยฝุ่นลงไปบนพื้นดินผสมผสานกับเถ้าถ่าน มินานพอจบมนตร์ดังกล่าวก็ปรากฎร่างนางมันทารวดีขึ้นในกองไฟ นางก้าวออกมาจากกองไฟพิธีด้วยรูปโฉมอันเปล่งปลั่งงดงามยิ่งกว่าเดิม ราวกับทองคำที่ถูกไฟชำระแล้วมีความสุกปลั่งผุดผ่องฉะนั้น
เมื่อพราหมณ์ทั้งสามแลเห็นนางมันทารวดีผู้งามเฉิดฉายราวเทพอัปสรปรากฏเฉพาะหน้า ต่างคนต่างก็แทบจะคลั่งตายเพราะความรัก และต่างก็ทุ่มเถียงแก่งแย่งกรรมสิทธิ์ในตัวนางด้วยกัน ไม่มีใครยอมเสียสละแก่กัน พราหมณ์ผู้เป็นโยคีกล่าวว่า "นางต้องเป็นของข้าเพราะข้าเป็นคนร่ายมนตร์ศักดิ์สิทธิ์ชุบนางขึ้นมาจากความตาย ข้าย่อมมีสิทธิ์ในตัวนาง" พราหมณ์คนที่สองเถียงว่า "นางควรเป็นของข้าเพราะข้าเป็นคนเอาอัฐิของนางไปโปรยลงในแม่น้ำคงคา ทำให้นางสะอาดบริสุทธิ์ด้วยสายน้ำอันศักดิ์สิทธิ์นั้น" และพราหมณ์คนที่สามก็กล่าวขึ้นอย่างเชื่อมั่นเต็มที่ว่า "ข้าเท่านั้นที่ควรจะได้นางเป็นภรรยา เพราะข้าเอาเถ้าถ่านของนางมาเก็บไว้และบำเพ็ญตบะเพื่อนางทุกวัน"
"โอ ราชะ" เวตาลกล่าวยิ้ม ๆ "โปรดตัดสินทีเถอะ ว่าในสามคนนี้นางควรจะเป็นของใคร ถ้าพระองค์รู้แล้วแกล้งไม่ตอบ พระเศียรของพระองค์จะต้องแยกเป็นเสี่ยง ๆ"
ฝ่ายพระเจ้าตริวิกรมเสนเมื่อได้ยินเวตาลพูดดังนั้นจึงตรัสว่า "ชายคนที่ร่ายมนตร์ทำให้นางคืนชีวิตขึ้นมานั้น ถึงแม้เขาจะต้องใช้ความสามารถและลำบากลำบนปานใด ก็ควรจะเป็นพ่อของนางเท่านั้น และพราหมณ์คนที่เอาอัฐิของนางไปสู่แม่น้ำคงคาก็ควรจะถือว่าเป็นลูกของนางอย่างเดียว ส่วนพราหมณ์ที่เก็บเถ้าถ่านของนางและคงอยู่ที่ป่าช้าถึงกับสร้างที่อยู่ตรงที่เผาศพนาง และบำเพ็ญตบะเพื่อนางนั่นต่างหาก ควรจะได้เป็นสามีของนางโดยแท้ เพราะเขาอยู่กับนางตลอดเวลามิได้ทอดทิ้งนางไปไหน แสดงความรักอันดื่มด่ำต่อนางแม้เพียงนอนบนเถ้าธุลีของนางโดยมิได้รังเกียจ"
เมื่อเวตาลได้ฟังพระเจ้าตริวิกรมเสนตรัส ดังนั้น เป็นการละเมิดสัญญาที่ตกลงกัน จึงอันตรธานจากบ่าของพระราชากลับไปที่อยู่ของตน แต่พระราชาก็ต้องทนลำบากติดตามหาตัวมันอีก ทั้งนี้ก็เพราะพระองค์ทรงถือมั่นในสัจจะที่ให้ไว้แก่โยคีศานติศีล และบุคคลที่มีสัจจะเช่นพระองค์นั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ย่อมจะปฏิบัติเหมือนกันหมด คือต้องทำภาระของตนให้สำเร็จลุล่วงไป ไม่ว่าจะต้องทนลำบากแม้ใหญ่หลวงเพียงไร
นิทานเรื่องที่๑
แต่โบราณกาล มีเมืองหนึ่งชื่อพาราณสี อันเป็นที่กล่าวกันว่าเป็นที่ประทับของพระศิวะผู้เป็นเจ้าเพราะเมืองนี้เป็นที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์ในศาสนา ซึ่งเปรียบเหมือนภูเขาไกรลาสอันเป็นที่ชุมนุมของทวยเทพ แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์มีน้ำเปี่ยมฝั่งตลอดกาลไหลเลียบพระนครนี้ ทำให้ดูเสมือนสร้อยแก้วมณีอันบรรเจิดที่คล้องเอาไว้โดยรอบ
ที่พระนครพาราณสีนี้ มีพระราชาองค์หนึ่งทรงนามว่า พระเจ้าประตาปมกุฏปกครองอยู่ พระองค์เป็นผู้เลิศด้วยเดชานุภาพ สามารถปราบปรามเหล่าอริราชศัตรูได้ราบคาบราวกับกองอัคนีที่เผาผลาญป่าใหญ่ให้วอดวาย ฉะนั้นพระองค์มีราชโอรสองค์หนึ่งชื่อ วัชรมกุฏ ผู้ทรงโฉมอันงามยอดยิ่งเพียงดังจะเย้ยกามเทพให้ได้อาย เจ้าชายมีสหายผู้หนึ่งชื่อพุทธิศรีระ ซึ่งทรงรักและตีราคาคุณค่าของเขาเท่ากับชีวิตของพระองค์นั่นเทียว แลพุทธิศรีระนั้นเป็นบุตรมนตรีผู้ใหญ่ของพระราชา
สมัยหนึ่งเจ้าชายกับพระสหายพากันแสวงหาความบันเทิงสุขโดยการขี่ม้าประพาสป่าไล่ล่าสิงโตอย่างสนุก ทรงยิงธนูตัดสร้อยคอของสีหะเหล่านั้น อันมีลักษณะดังแส้จามรีของมันขาดกระจุย ในที่สุดเสด็จมาถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่งที่นั้นมีความงดงามรื่นรมย์ราวกับอุทยานของกามเทพ มีเสียงนกดุเหว่าวิเวกแว่วอ่อนหวาน ผสมผสานมากับสายลมที่แผ่วรำเพยมาจากแนวพฤกษ์อันมีดอกบานสะพรั่งทุกกิ่งก้านกวัดไกวไปมา ระหว่างทิวไม้อันคดโค้งในเบื้องหน้าเป็นทะเลสาบซึ่งมีน้ำอันใสเขียวดังมรกตและมีระลอกน้อย ๆ วิ่งไล่กันเข้าสู่ฝั่งมิได้ ขาด กลางบึงใหญ่มีกอบัวอันสลับสล้างด้วยสีสันวรรณะต่าง ๆ อย่างงดงาม ณ ที่นั้น เจ้าชายทอดพระเนตรเห็นนารีนางหนึ่งมีรูปโฉมงดงามดังเทพอัปสร ลงเล่นน้ำอยู่พร้อมด้วยคณานางผู้เป็นบริวาร นางมีพักตร์อันงามดังสมบูรณจันทร์ อันทำให้เศวโตตบล (บัวสายสีขาว) ทั้งหลายต้องได้อาย เพียงได้แลเห็นนางครั้งแรก เจ้าชายหนุ่มก็รู้สึกเหมือนว่านางได้คร่าเอาดวงหทัยของพระองค์ไปเสียแล้วด้วยเสน่ห์อันลึกซึ้งของนาง แลนางนั้นกำลัง เพลิดเพลินอยู่ด้วยการเล่นน้ำจนมิทันระวัง อาภรณ์ที่หลุดร่วงจากอุระ ขณะที่เจ้าชายและสหายกำลังจ้องดูนางอยู่
ด้วยความสงสัยว่านางเป็นใครนั้น ก็พอดีนางเหลือบมาเห็นเข้า นางเมินหน้าหนีด้วยความอาย แต่แล้วกลับแสดงท่าทีเป็นนัย ๆ ให้ทราบว่านางเป็นใครมาจากไหน นางเด็ดดอกบัวออกจากมาลาที่สวมศีรษะนางดอกหนึ่งเอาทัดหูไว้ นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วเอาดอกบัวออกจากหู บิดให้เป็นรูปเครื่องประดับอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ทันตบัตร (แผ่นฟันเป็นรูปอาภรณ์ชนิดหนึ่ง) จากนั้นนางหยิบดอกบัวอีกดอกหนึ่งขึ้นวางบนศีรษะ และเอามือปิดอุระไว้ตรงหัวใจนาง เจ้าชายมองดูอากัปกิริยาของนางอย่างไม่เข้าใจ แต่สหายผู้เป็นบุตรมนตรีเข้าใจโดยตลอด นางโฉมงามนิ่งอยู่ครู่หนึ่งก็ขึ้นจากน้ำแวดล้อมด้วยบริวารเดินทางกลับไปยังนิวาสสถานของนาง
เมื่อนางเข้าในบ้านก็ล้มตัวลงบนที่นอน มีใจอันเต้นระทึกคิดถึงเจ้าชายด้วยความสงสัยว่าพระองค์จะเข้าใจสัญญาณของนางหรือไม่ ส่วนเจ้าชายวัชรมกุฏ เมื่อมิได้เห็นนางอีกแล้วก็เปรียบเหมือนวิทยาธรที่สิ้นไร้ซึ่งมนตร์วิเศษ เมื่อเสด็จกลับถึงพระนครก็มีแต่จิตประหวัดคิดถึงนางอยู่มิรู้วาย ทรงตกอยู่ในอารมณ์รันทด มีแต่ความเศร้าสร้อยอาวรณ์หาแต่นางผู้เดียว วันหนึ่งบุตรมนตรีเข้ามาเฝ้าและสนทนากันด้วยเรื่องต่าง ๆ พุทธิศรีระบุตรมนตรี ได้ถามเจ้าชายผู้เป็นสหายว่ามีความคิดอย่างไรเรื่องนางงามที่พบที่ทะเลสาบ ในความคิดของตนเห็นว่านางนั้นอาจจะติดต่อได้ง่ายกว่าที่คิดเพราะทุกอย่างไม่มีปัญหาอะไรเลย
เจ้าชายได้ฟังก็พลุ่งขึ้นมาว่า “เจ้าพูดได้อย่างไรว่าเข้าหาไม่ยากเลย ข้าไม่รู้จักแม้แต่ชื่อของนาง ที่ซึ่งนางอยู่ หรือแม้แต่หัวนอนปลาย ตีนของนางทั้งสิ้น เจ้าชางกวนโมโหข้าเสียจริง”
เมื่อเจ้าชายตรัสดังนี้ พุทธิศรีระก็ถึงกับอ้าปากค้าง กล่าวว่า “อะไรนะ พระองค์ไม่ทราบได้อย่างไรในเมื่อนางให้สัญญาณออกโจ่งแจ้งอย่างนั้น ก็เมื่อนางเอาดอกบัวทัดที่หู นางหมายจะบอกพระองค์ว่า ‘ฉันอยู่ในแว่นแคว้นของพระราชานาม กรรโณตบล’ (ผู้มีดอกกบัวประดับที่หู) เมื่อนางบิดกลับบัวเป็นอาภรณ์ทันตบัตร นางหมายความว่า ‘จงรู้เถิดว่าฉันเป็นลูกของทัตแพทย์ที่เมืองนั้น’ การที่นางหยิบดอกบัวขึ้นชูบนศีรษะว่า นางชื่อปัทมาวดี และการที่นางเอามือทาบหทัยประเทศก็หมายความว่า พระองค์สถิตอยู่ในหัวใจของนางแล้วนั่นเอง พระองค์ไม่รู้หรือว่าพระราชากรรโณตบลนั้นเป็น กษัตริย์แห่งแคว้นกลิงคะ และมีพระสหายที่โปรดปรานคนหนึ่งเป็นหมอฟันชื่อสงครามวรรธน์ ก็ชายผู้นี้แหละ มีลูกสาวชื่อ ปัทมาวดี ผู้เป็นมุกดาแห่งโลกทั้งสาม และบิดาของนางตีราคานางเท่ากับชีวิตของเขานั่นเทียว
เรื่องราวเหล่านี้ข้าพเจ้าทราบจากคำคนเขาพูดกันมานานแล้ว เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงตีความหมายของนางได้ถูก ต้องไม่ว่านางจะแสดงท่าทีอย่างไร
เมื่อราชบุตรได้ฟังคำเฉลยอันแจ่มแจ้งของบุตรมนตรีดังนี้ ก็มีใจปลอดโปร่งสิ้นความกังวลวิตก มีใบหน้าอันแช่มชื่นขึ้นทันที และเห็นโอกาสที่จะไปหานางอันเป็นที่รักได้โดยง่าย จึงจัดการเสด็จอีกครั้งหนึ่งพร้อมด้วยบุตรมนตรี โดยแสร้งทำเป็นว่าจะไปล่าสัตว์แล้วมุ่งไปหานางโดยทันทีตามเส้นทางเดิม พอมาถึงกลางทาง เจ้าชายก็กระตุ้นม้าเผ่นโผนไปด้วยความเร็วจนข้าราชบริพารตามไม่ทัน แล้วมุ่งหน้าไปยังแคว้นกลิงคะพร้อม ด้วยบุตรมนตรีตามเสด็จอย่างใกล้ชิด ณ ที่นั้นชายหนุ่มทั้งสองก็มุ่งไปยังพระนครของพระราชากรรโณตบล แล้วสืบเสาะจนพบคฤหาสน์หลังงามของทันตแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าชายและพระสหายแวะเข้าไปสู่บ้านของหญิง ชราผู้หนึ่งซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับคฤหาสน์นั้น พุทธิศรีระจัดการให้หญ้าให้น้ำแก่ม้าทั้งสองตัว แล้วเอาไปซ่อนในที่ ลับตา จากนั้นก็กล่าวแก่หญิงชราต่อพระพักตร์ของเจ้าชายว่า “คุณแม่ ท่านเคยรู้จักหมอฟันชื่อ สงครามวรรธน์บ้างหรือ”
พอนางได้ฟังถ้อยคำดังนั้น ก็กล่าวแก่ชายหนุ่มอย่างอ่อนน้อมว่า “แม่รู้จักเขาดีทีเดียว ก็แม่นี่แหละเคยเป็นแม่นมของเขา เดี๋ยวนี้เขาให้แม่เป็นคนดูแลลูกสาวของเขาแล้ว แต่แม่ก็ไม่ได้เข้าไปที่บ้านใหญ่นั่นหรอก เพราะไม่มีเสื้อผ้าดี ๆ จะแต่ง มีแต่ชุดปอน ๆ นี่จะใส่ไปก็อายเขา ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะอ้ายลูกชายชาติชั่ว มันเล่นการพนันหมดเนื้อหมดตัว ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว มันเห็นเสื้อผ้าสวย ๆ ของแม่มีอยู่ มันก็ขนเอาไปจนหมด” เมื่อบุตรมนตรีได้ฟังดังนั้นก็ยินดี แลเห็นช่องทางโดยตลอด จึงถอดสร้อยสังวาลออกมอบให้นางพร้อมด้วยของขวัญอีกหลายอย่าง ทำให้นางปลาบปลื้มเป็นอันมาก บุตรมนตรีเห็นได้โอกาสจึงกล่าวแก่นางว่า
“คุณแม่จงเป็นแม่ของพวกเราเถิด ตอนนี้ฉันมีความลับอย่างหนึ่งที่จะบอกคุณแม่ และขอให้คุณแม่ช่วยสงเคราะห์ด้วย ให้คุณแม่ไปหานางปัทมาวดี ลูกหมอฟันและกล่าวแก่นางว่า เจ้าชายที่เจ้าเห็นที่ทะเลสาบนั้น บัดนี้มาถึงแล้ว และเพราะความรักของเขาที่มีต่อเจ้าอย่างท่วมท้น เขาจึงรีบให้แม่มาบอกเจ้า”
เมื่อหญิงชราได้ฟังดังนั้นก็ตอบตกลง เพราะได้ลาภสักการมาไว้แล้วอย่างเต็มที่ รีบกระวีกระวาดเข้าไปพบนางปัทมาวดีในปราสาท และกลับมาในเวลาเพียงชั่วครู่ เจ้าชายและพระสหายเห็นนางกลับมาก็ถามเรื่องราวโดยทันที นางได้ฟังก็ตอบว่า “แม่ไปพบนางอย่างลับ ๆ และแจ้งข่าวแก่นางว่าเจ้ามาถึงแล้ว พอนางฟังจบก็ด่าข้ายกใหญ่ มิหนำซ้ำยังตบหน้าข้าทั้งสองข้างข้างละทีด้วยฝ่ามือที่ทาด้วยการบูร แล้วไล่ข้ากลับมา นางทำให้ข้าต้องร้องไห้ด้วยความเสียใจเพราะถูกดูหมิ่นอย่างคาดไม่ถึง นี่ไงล่ะ ลูกเอ๋ย รอยที่นางตบข้ายังเป็นผื่นห้านิ้วอยู่เลยเห็นไหม”
เมื่อได้ฟังดังนี้ เจ้าชายก็รู้สึกเป็นทุกข์เพราะความผิดหวังยิ่งนัก แต่บุตรมนตรีผู้ฉลาดได้กล่าวปลอบโยนว่า “อย่าทรงเศร้าโศกไปเลยพระเจ้าข้า ที่นางทำอย่างนี้เป็นแต่เพียงปริศนาเท่านั้นหรอก การที่นางบริภาษแม่เฒ่าและตบหน้าทั้งสองแก้มด้วยมือทาการบูรทั้งสิบนิ้วเป็นรอยสีขาวอย่างนั้นก็เพราะนางต้องการจะตอบเป็นนัย ๆ ว่าให้พระองค์ทรงรออีกสิบวันข้างขึ้น เพราะระหว่างนี้เป็นวันที่ฤกษ์ไม่ดี”
หลังจากที่บุตรมนตรีกล่าวปลอบโยนเจ้าราชบุตรดังนี้แล้ว บุตรมนตรีก็ออกไปตลาด แอบเอาเครื่องทองหยองออกขายอย่างลับ ๆ เอาเงินมาให้แม่เฒ่าไปทำอาหารอย่างดีเลิศมากินกันทั้งสามคน หลังจากนั้นเมื่อรอมาครบสิบวัน บุตรมนตรีก็ส่งแม่เฒ่าไปพบนางปัทมาวดีอีกเพื่อดูว่านางจะว่าอย่างไร ฝ่ายหญิงชราหลังจากที่ถูกปรนเปรอด้วยเหล้ายาปลาปิ้งและอาหารนานารสอย่างอิ่มหมีพีมันแล้วก็มีกำลังใจยอมช่วยเหลือเต็มที่ นางเดินทางไปหานางปัทมาวดีอีกครั้งเพื่อเอาใจแขกทั้งสอง นางไปแล้วมิช้าก็กลับมากล่าวแก่ชายทั้งสองว่า “แม่ไปมาแล้ว และไม่ทันได้พูดอะไร แต่นางกลับเยาะเย้ยแม่ว่าทำเป็นแม่สื่อดีนัก นางเอามือที่ทาชาดมาแปะหน้าอกข้าเป็นรอยนิ้วมือสามนิ้ว ข้าจึงกลับมายังเจ้าพร้อมด้วยรอยนิ้วมือของนางนี่แหละ”
เมื่อบุตรมนตรีได้ฟังและพิเคราะห์ด้วยความฉลาดก็ทูลเจ้าชายให้สงบพระทัย และไตร่ตรองในปริศนาของนาง ซึ่งตนเห็นว่าไม่ลี้ลับอะไรเลย “นางต้องการจะบอกให้ทราบว่า นางยังไม่ว่างที่จะพบใครในสามวันนี้” บุตรมนตรีเฉลยปัญหาอย่างมั่นใจ
หลังจากนั้นอีกสามวัน พุทธิศรีระก็ส่งหญิงเฒ่าไปหานางปัทมาวดีอีก คราวนี้นางปัทมาวดีต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี ปรนเปรอด้วยอาหารอันเอมโอชและสุราอย่างดี หญิงชราเพลิดเพลินอยู่ที่คฤหาสน์ตลอดวัน จนกระทั่งถึงเวลาเย็นนางจึงลากลับบ้าน ขณะนั้นปรากฎเสียงอื้ออึงในท้องถนนหน้าคฤหาสน์เสียงคนร้องเอะอะว่า “ระวังด้วย มีช้างบ้าหลุดจากเสาตะลุงวิ่งมาทางนี้ มันกระทืบคนตายไปหลายคนแล้ว หนีเร็ว!” นางปัทมาวดีได้ยินดังนั้นจึงกล่าวแก่หญิงชราว่า “แม่อย่าออกไปทางถนนใหญ่เลย อันตรายเปล่า ๆ เราจะให้แม่นั่งในกระเช้าแล้วค่อยหย่อนเชือกลงไปจากหน้าต่างดีกว่า พอลงไปถึงสวนแล้วก็ปีนต้นไม้ออกไปที่กำแพง แล้วข้ามกำแพง ลงไปโดยไต่ลงต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ถึงทางลัดแล้วแม่ก็กลับไปบ้านเถิด” หลังจากกล่าวดังนี้แล้ว นางปัทมาวดีก็ให้หญิงชราลงไปนั่งในกระเช้า เอาเชือกพันแน่นหนา แล้วก็ค่อยหย่อนนางลงทางหน้าต่าง เมื่อลงไปถึงสวนแล้วก็ให้นางทำตามที่บอกจนหญิงเฒ่ากลับสู่บ้านด้วยความปลอดภัย เมื่อนางกลับมาบ้านแล้วก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้ชายหนุ่มทั้งสองฟัง บุตรมนตรีได้ฟังดังนั้นก็กล่าวแก่เจ้าชายว่า “ความปรารถนาของพระองค์ถึงความสำเร็จแล้ว เพราะฟังจากถ้อยคำแม่เฒ่านี่ นางปัทมาวดีได้แนะหนทางให้พระองค์ไปสู่บ้านของนางแล้ว เพราะฉะนั้นจงเสด็จไปเถิด ไปเสียวันนี้เลย เวลาย่ำค่ำ ไปตามหนทางที่นางชี้แนะไว้แล้วนั่นแหละ”
เมื่อบุตรมนตรีกล่าวดังนี้ เจ้าราชบุตรก็เดินทางไปพร้อมด้วยบุตรมนตรีลัดเลาะมาจนถึงแนวกำแพงบ้านนางตามที่หญิงชราบอกไว้ ที่ตรงนั้นมีเชือกผูกระเช้าหย่อนลงมาจากหน้าต่าง ที่ขอบหน้าต่างแลเห็นสาวใช้กำลังเยี่ยม ๆ มอง ๆ เหมือนนางกำลังคอยหาเจ้าชายอยู่ ดังนั้นเจ้าจึงลงไปนั่งในกระเช้านางสาวใช้สองคนก็ช่วยกันชักกระเข้าขึ้นไปจนถึงหน้าต่าง จากนั้นเจ้าชายก็เสด็จเข้าไปในปราสาทและตรงเข้าไปหานางอันเป็นที่รัก บุตรมนตรีเห็นว่าเสร็จธุระของตนแล้วก็กลับที่พัก
ส่วนเจ้าชายเมื่อเข้าไปถึงห้องของนางก็แลเห็นนางนั่งอยู่บนอาสน์ มีใบหน้าอันงามปลั่งเปล่งดังจันทร์เพ็ญฉายแสงอร่ามเรืองในราตรี นางแลเห็นเจ้าชายก็รีบลุกจากแท่นเข้ามากอดไว้ด้วยความเสน่หาอันแผดเผาอุระให้ทรมานมานับเดือน เจ้าชายประคองนางไว้ด้วยความรัก และกระทำวิวาหะต่อนางตามแบบคานธรรพวิวาห์ (การได้เสียกันเองด้วยความพอใจทั้งฝ่ายชายและหญิง วิวาหะชนิดนี้ถือเป็นแบบหนึ่งที่ถูกต้องตามกฏหมายอย่างหนึ่งใน 8 ชนิด) เมื่อความปรารถนาของพระองค์บรรลุความสำเร็จแล้ว เจ้าชายก็ประทับอยู่กับนางเรื่อยมาโดยการลักลอบมิให้รู้ถึงผู้อื่น จนเวลาผ่านไปหลายวัน
วันหนึ่งขณะในที่อยู่กับนางในที่รโหฐาน เจ้าชายรำลึกถึงพระสหายได้ จึงกล่าวแก่นางว่า “ดูก่อนเจ้าผู้เป็นที่รัก สหายร่วมใจของข้ากำลังคอยข้าอยู่ที่บ้านแม่เฒ่า เวลาก็ผ่านไปหลายวันแล้ว ข้าคิดว่าควรจะกลับไปเยี่ยมเยียนเขาบ้าง เพราะเขาคอยฟังข่าวจากข้าอยู่ เสร็จธุระแล้วข้าจะกลับมาที่นี่อีก”
ปัทมาวดีโฉมงามได้ฟังก็นิ่งอยู่ ไตร่ตรองด้วยความฉลาดของนาง แล้วก็กล่าวแก่สามีของนางว่า “โอท่านผู้เป็นบดี (สามี หรือนาย) ของข้า เมื่อพระองค์ตรัสดังนี้ก็ดีแล้ว แต่ข้ายังมีความสงสัยอยู่อย่างหนึ่งที่จะถามว่า ก่อนหน้านี้ข้าเคยทำปริศนาหลายอย่างต่อพระองค์ พระองค์ทรงตีปัญหาแตกด้วยความคิดของพระองค์เองหรือ หรือว่าบุตรมนตรีผู้เป็นสหายเป็นคนคิดให้”
     เจ้าราชบุตรได้ฟังดังนั้นก็กล่าวตอบโดยความซื่อว่า “ข้าไม่ได้คิดเองเลยสักอย่าง แต่สหายของข้าคือบุตรมนตรีผู้นั้นเป็นผู้แนะนำต่างหาก”
นางได้ฟังดังนั้นก็คิดในใจด้วยความล้ำลึก ปกปิดความรู้สึกอันแท้จริงมิให้ปรากฏออกนอกหน้า กล่าวว่า “พระองค์ทำผิดเสียแล้วที่ไม่แจ้งเรื่องนี้แก่ข้าก่อน เมื่อเขาเป็นสหายของพระองค์ เขาก็ควรจะเป็นพี่ของข้าด้วย ข้าควรจะให้เกียรติแก่เขายิ่งกว่าใคร ๆ ทั้งหมด โดยให้ของขวัญอันมีค่าต่าง ๆ”
เมื่อนางกล่าวดังนี้แล้ว ตกเวลากลางคืนนางก็ส่งเจ้าชายกลับไปโดยวิธีเดิมเหมือนขามา เจ้าชายก็กลับมาหาพุทธิศรีระและพักอยู่ด้วยกันเป็นเวลาหลายวัน วันหนึ่งราชบุตรกล่าวแก่บุตรมนตรีว่าพระองค์ได้เล่าเรื่องการแก้ปริศนาของเขาให้นางทราบหมดแล้วเพื่อต้องการจะยกย่องความฉลาดของเขา สหายหนุ่มได้ฟังก็ตำหนิ ว่าเป็นการเสี่ยงมากที่ทรงทำดังนั้น การสนทนาระหว่างสองชายดำเนินไปจนกระทั่งเย็นค่ำ วันต่อมา หลังจากการสวดประจำวันเวลาเช้าสิ้นสุดลง ก็ปรากฏว่ามีสาวใช้คนสนิทของนางปัทมาวดีมารอพบอยู่ เอาหมากพลูมาให้พร้อมกับอาหารซึ่งน่ากินหลายอย่าง นางถามสารทุกข์สุกดิบของบุตรมนตรีตามธรรมเนียม แล้วมอบของกินให้แก่เขาและกล่าวแก่เจ้าชายว่า นางปัทมาวดีกำลังคอยอยู่ ขอให้พระองค์เสด็จไปเสวยอาหารที่บ้านของนางโดยเร็ว นางกล่าวจบก็รีบผลุนผลันกลับไป บุตรมนตรีเห็นนางไปแล้วก็กล่าวแก่เจ้าชายว่า
“ข้าแต่ราชบุตร โปรดคอยดู ข้าจะแสดงอะไรให้ดูสักอย่าง” กล่าวจบก็นำอาหารในภาชนะนั้นมาให้สุนัขกิน สุนัขกินอาหารนั้นยังไม่ทันหมดก็ล้มลงขาดใจตาย เจ้าชายแลดูด้วยความงุนงง ตรัสว่า “นี่มันอะไรกัน ข้าไม่เข้าใจ”
บุตรมนตรีจึงอธิบายว่า “ความจริงก็คือ นางผู้เป็นที่รักของพระองค์รู้ว่าข้าเป็นคนมีปัญญา เพราะสามารถตีปัญหาของนางออกทุกอย่าง นางจึงส่งอาหารใส่ยาพิษมาให้ข้ากิน ที่นางทำเช่นนี้ก็เพราะนางรักพระองค์มากเหลือเกิน นางต้องการให้พระองค์รักนางอย่างสุดจิตสุดใจ และนางเห็นว่า ตราบใดที่ข้ายังมีชีวิตอยู่ ข้าอาจเป็นก้างขวางคอนาง และอาจจะยุยงพระองค์ให้เหินห่างจากนางเมื่อไรก็ได้ นางจึงคิดจะฆ่าเสีย มิให้ข้านำพาพระองค์เสด็จกลับพระนคร แต่พระองค์อย่าโกรธนางเลย ทางที่ดีขอให้พระองค์เล้าโลมนางจนคิดหนีจากสกุลติดตามพระองค์กลับสู่พระนครจะดีกว่า ข้าจะเป็นผู้ออกอุบายดำเนินเรื่องนี้เอง”
เมื่อบุตรมนตรีทูลดังนี้ เจ้าราชบุตรก็ทรงยิ้มแย้มด้วยความพอพระทัยตรัสว่า “เจ้านี่สมแล้วที่ได้ชื่อว่า พุทธิศรีระ เพราะเจ้าเป็นแหล่งของความฉลาดแท้เทียว”
ขณะที่เจ้าชายกำลังกล่าวยกย่องพระสหายอยู่นั้นก็ได้ยินเสียงคนเป็นอันมากส่งเสียงปริเทวนาการมาจากท้องถนนว่า “โธ่เอ๋ย ช่างกระไรราชบุตรน้อยของพระราชามาด่วนจากไปเสียแล้ว ไม่ควรเลย ยังเด็กอยู่แท้ ๆ” บุตรมนตรีได้ยินเสียงดังนั้นก็รู้สึกยินดีนัก กล่าวแก่เจ้าชายว่า “รีบเสด็จไปบ้านนางเถอะ คืนนี้เมื่อพระองค์อยู่กับนาง จงพยายามให้นางดื่มสุราให้มาก ให้นางเมาจนสิ้นสติแน่นิ่ง แล้วจงเอาเหล็กเผาไฟนาบสะโพกของนางเป็นเครื่องหมายแล้วเก็บสร้อยถนิมพิมพาภรณ์เครื่องประดับกายของนางมาให้หมด จากนั้นขอให้เสด็จกลับมาทางเดิม เมื่อกลับมาบ้านแล้วข้าจะดำเนินการตามแผนที่คิดไว้ทุกอย่าง” เมื่อบุตรมนตรีกล่าวดังนี้แล้วก็มอบเหล็กแหลมรูปตรีศูลอันเล็ก ๆ มีลักษณะแหลมราวกับขนหมูป่าให้แก่เจ้าชายเพื่อไปกระทำตามแผน เจ้าชายรับมาแล้วทรงพิจารณาดูอาวุธน้อยอันดำเป็นมันขลับราวกับตะกั่วดำ พลางคิดว่าทั้งนางปัทมาวดีผู้เป็นที่รัก กับพุทธิศรีระผู้เป็นสหายแก้ว ดูจะเป็นคนใจหินด้วยกันทั้งคู่ไม่มีใครเป็นรองใครจึงตรัสว่า “เอาเถอะข้าจะทำตามที่เจ้าสั่งทุกอย่าง”
คืนนั้นเจ้าชายเสด็จไปยังคฤหาสน์ของนางปัทมาวดี เพราะขึ้นชื่อว่าเจ้าชายย่อมจะต้องทำตามคำแนะนำของมนตรีที่ฉลาดเสมอ ณ ที่นั้นพระองค์ได้ภิรมย์อยู่ด้วยนางจนเวลาค่อนคืน ปรนเปรอนางด้วยสุรา จนนางเมามายถึงขนาดและแน่นิ่งไป เจ้าชายเห็นได้โอกาสก็หยิบตรีศุลมาลนไฟแล้วนาบลงที่สะโพกของนางโดยนางยังคงสลบไสลไม่ได้สติเช่นเดิม เสร็จแล้วทรงรวบรวมรัตนาภรณ์ของนางใส่ห่อผ้า เสด็จเร้นพระองค์ลงจากหน้าต่างในความมืด แฝงกายลัดเลาะมาถึงบ้าน แจ้งเหตุการณ์ทุกอย่างให้บุตรมนตรีทราบ ทำให้บุตรมนตรีดีใจที่แผนการประสบผลสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว
รุ่งเช้าบุตรมนตรีแอบไปยังสุสานนอกเมือง พร้อมด้วยราชบุตร และเปลี่ยนเสื้อผ้า โดยบุตรมนตรีปลอมตนเป็นโยคี ส่วนเจ้าชายปลอมเป็นสาวก เสร็จแล้วบุตรมนตรีกล่าวแก่เจ้าชายว่า “พระองค์จงนำรัตนาวลีนี้ไปเร่ขายในตลาด แล้วทำเป็นโก่งราคาเสียจนไม่มีใครกล้าแตะ จงเดินเร่ขายไปเรื่อย ๆ ทำให้ใคร ๆ ได้เห็นกันจนทั่ว และเมื่อถูกราชบุรุษ (ตำรวจ) จับ จงทำเป็นไม่รู้อิโหน่อิเหน่ตอบแต่เพียงว่า ท่านโยคีอาจารย์ของข้าสั่งให้ข้าเอาสร้อยเส้นนี้มาขาย
เมื่อบุตรมนตรีกำชับกำชาเรียบร้อยแล้วก็ส่งเจ้าชายออกไปที่ตลาด เจ้าชายแกล้งตระเวนขายสายสร้อยมณีไปทั่วตลาด ในที่สุดก็ถูกราชบุรุษจับ เพราะราชบุรุษได้รับแจ้งความมาว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัตนาภรณ์ที่โจรเอาไปจากลูกสาวเศรษฐีผู้เป็นทันตแพทย์ เมื่อราชบุรุษจับกุมเจ้าชายไปแล้วก็นำไปมอบแก่ตุลาการ ตุลาการแลเห็นราชบุตรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของโยคี ก็รีบแสดงความเคารพและถามด้วยความนอบน้อมว่า “ข้าแต่ท่านสาธุ ท่านเอาสร้อยมณีเส้นนี้มาจากไหน ท่านรู้หรือไม่ว่า สร้อยเส้นนี้เป็นของธิดาเศรษฐีใหญ่ คือธิดาทันตแพทย์หลวง นางทำหายไปโดยไร้ร่องรอยจำไม่ได้ว่าที่ไหน บางทีอาจจะถูกขโมยเมื่อคืนนี้ก็ได้”
เมื่อเจ้าชายผู้ปลอมเป็นสาธุได้ฟังดังนั้นจึงตอบว่า “ท่านมหาคุรุผู้เป็นอาจารย์ของข้าเป็นคนมอบให้ข้าเอง ถ้าท่านอยากรู้อะไรก็จงสอบถามท่านคุรุเถิด”
ตุลาการได้ฟังก็เดินทางไปที่สุสาน แลเห็นบุตรมนตรีนั่งอยู่ คิดว่าเป็นโยคีจึงเข้าไปทำความเคารพและถามว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านได้มุกดาวลีเส้นนี้มาจากไหน ข้าได้มาจากศิษย์ของท่าน”
เมื่อหนุ่มเจ้าเล่ห์ได้ฟังก็ตอบว่า “ข้าเป็นนักบวชแสวงบุญ เดินทางท่องเที่ยวจาริกแสวงบุญไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่พำนักถาวร ข้าชอบท่องเที่ยวไปในไพรกว้าง ออกจากป่าโน้นเข้าป่านี้ตามอำเภอใจของข้า คราวนี้ประเหมาะได้เจอเรื่องตื่นเต้นเข้าจนได้ เมื่อคืนข้ามาพักอยู่ในสุสานนี้ ข้าได้เห็นนางแม่มดจำนวนมากมาประชุมกันที่นี่ พวกมันคนหนึ่งนำเอาร่างสลบไสลของชายองค์หนึ่งมาด้วย มันเอาร่างเปล่าเปลือยของชายเคราะห์ร้ายมาวางเป็นเครื่องบูชายัญแด่องค์พระไภรวะ (ผู้น่ากลัว หมายถึงพระศิวะ (อิศวร) ปางดุร้าย) นางแม่มดตนหนึ่งมีอำนาจตบะแรงกล้ามิใช่น้อย แอบเข้ามาขโมยสร้อยประคำที่ข้าใช้ท่องบ่นมนตราอันศักดิ์สิทธิ์ไป ข้าลืมตาขึ้นเห็นนางตัวดีวิ่งหนีไปข้างหน้า ข้าโกรธมาก วิ่งตามไปจิกหัวมัน กระชากสร้อยประคำคืนมาแล้วมัดนางไว้ เอาตรีศุลของข้าลนไฟแล้วนาบสะโพกมัน ข้าหยิบสร้อยมุกดาที่มันสวมคอเอามาด้วย แล้วปล่อยมันไป ข้าเห็นว่ารัตนาวลีนี้เป็นของมีค่า มิใช่ของอันดาบสพึงเก็บเอาไว้ใช้สอย จึงให้ลูกศิษย์ข้าเอาไปขายที่ตลาด เรื่องก็มีเท่านี้แหละ
เมื่อตุลาการได้ฟังเรื่องราวโดยตลอดเช่นนั้นก็รีบกลับเข้าวังทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาได้ฟังรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยที่มีเรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้น ในที่สุดทรงสรุปเอาว่า สร้อยมุกดานั้นชะรอยจะเป็นเส้นเดียวกับเส้นที่หายไป พระราชาจึงส่งนางพนักงานชราที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้คนหนึ่งไปสืบที่บ้านเศรษฐี เพื่อดูว่าธิดาเศรษฐผู้นั้นมีรอยรูปตรีศุลอยู่ที่สะโพกหรือหาไม่ หญิงเฒ่าไปแล้วมิช้าก็กลับมาทูลว่า นางปัทมาวดีนั้นมีรอยรูปตรีศูลบนสะโพกเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อได้ฟังดังนั้นพระราชาก็ทรงมั่นพระทัยว่า นางปัทมาวดีเป็นแม่มด และเป็นคนเดียวกับที่ฆ่าพระโอรสของพระองค์เป็นแน่แท้ ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จไปแต่ลำพัง เข้าไปหาโยคีที่สุสาน และถามว่า พระองค์ควรจะจัดการอย่างแก่นางปัทมาวดี โยคีปลอมจึงทูลแนะนำให้เนรเทศนางไปเสียจากพระนคร พระราชาจึงออกคำสั่งให้เนรเทศนางไปเสีย ทำให้บิดามารดาของนางเศร้าโศกเพียงชีวิตจะแตกสลาย เมื่อนางปัทมาวดีถูกขับไล่ออกจากเมือง เสื้อผ้าแพรพรรณและถนิมพิมพาภรณ์ของนางก็ถูกยึดไปหมด เหลือแต่ผ้านุ่งห่มปอน ๆ ผืนเดียว นางเข้าไปอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว สิ้นความคิดที่จะช่วยเหลือตัวเอง นั่งซึมเซาอยู่ตกเย็นบุตรมนตรีกับเจ้าชายเปลี่ยนเครื่องแต่งกายนักบวช แล้วขี่ม้าเข้ามาในป่าตรงไปหานาง ปลอบโยนนางให้คลายโศกแล้วเจ้าชายก็อุ้มนางขึ้นขี่ม้าตัวเดียวกันเดินทางกลับพระนครพาราณสี และดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันด้วยความผาสุก ส่วนเศรษฐีทันตแพทย์ เมื่อธิดาของตนจากไปแล้วและมิได้ยินข่าวเกี่ยวกับนางอีกก็คิดว่านางคงถูกสัตว์ป่ากินสิ้นชีวิตไปแล้ว มีความทุกข์ระทมแสนสาหัส ก็ตรอมใจตาย ต่อมามิช้านางผู้ภริยาก็ตายตามไปด้วยอีกคนหนึ่ง
ฝ่ายเวตาลเมื่อเล่าเรื่องจบลงแล้ว ก็แสร้งกล่าวแก่พระราชาว่า “โอ อารยบุตร ข้ามีความสงสัยอยู่อย่างหนึ่งในเรื่องที่เล่ามานี้ว่า ในกรณีที่บิดามารดาของนางปัทมาวดีต้องสิ้นชีวิตลงไปนี้ ทรงเห็นว่าเป็นความผิดของใคร บุตรมนตรี หรือว่าเจ้าชาย หรือนางปัทมาวดีกันแน่ โปรดทรงวินิจฉันให้ข้าฟังหน่อยเถอะ เพราะพระองค์ก็ได้ชื่อว่าเป็นยอดนักปราชญ์ผู้หนึ่ง โอ ราชะ ถ้าพระองค์ไม่กล่าวคำจริงทั้ง ๆ ที่ทรงรู้ดีอยู่แก่ใจแล้วละก็ พระเศียรของพระองค์จะต้องแยกออกเป็นร้อยเสี่ยงแน่เทียว”
เมื่อเวตาลกล่าวดังนี้ พระราชาผู้เป็นสัตยเคราะห์ (ผู้ยึดมั่นในความสัตย์) ก็ตกพระทัยเพราะความเกรงกลัวในคำสาป จึงตรัสว่า “โอ เวตาล เจ้าก็เป็นผู้ชำนิชำนาญในมายาศาสตร์ทั้งปวง เรื่องนี้ยากเย็นอะไร บุคคลทั้งสามที่เจ้าเอ่ยมานั้นข้าไม่เห็นว่าจะมีใครเป็นผู้ผิดแม้แต่คนเดียว ความผิดในเรื่องนี้ทั้งหมดเป็นของพระราชากรรณโณตบลนั่นต่างหาก”
เวตาลได้ฟังก็กล่าวว่า “อะไรกัน พระราชาเป็นผู้ผิดด้วยเหตุใด บุคคลทั้งสามนั่นแหละเป็นผู้ก่อความผิดเกี่ยวเนื่องกันทั้งสามคน ก็กานั้นเสพของสกปรกจะต้องพลอยมีความผิดด้วยหรือ ในเมื่อหงส์นั้นมิได้กินภักษาหารเหมือนกา แต่กินข้าวเปลือกแทน”
พระราชาตรัสอธิบายว่า “ว่าตามจริงคนทั้งสามมิได้ทำความผิดเลยสักนิด บุตรมนตรีไม่ได้ทำผิดเพราะสิ่งที่เขาทำไปเป็นเพราะเขาต้องการจะช่วยเจ้านายของเขา นับเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องทำอยู่แล้วในฐานเสวกและสหาย ส่วนนางปัทมาวดีและเจ้าราชบุตรก็มิได้ทำผิดอะไร เพราะทั้งสองคนต่างก็ถูกเผาไหม้ด้วยพิษศรกามเทพเช่นเดียวกัน สิ่งที่พวกเขากระทำไปก็เพราะเขาต่างรักกัน และทำไปด้วยความโง่เขลาต่างหาก จึงไม่ควรถูกตำหนิในเรื่องนี้ ก็พระราชากรรโณตบลนั่นแหละ ขาดความรู้ความเข้าใจในนิติศาสตร์อันเป็นหลักที่พระเจ้าแผ่นดินควรจะรู้ ไม่สืบสวนข้อเท็จจริงให้ประจักษ์ในงานอันเกี่ยวกับแว่นแคว้นที่ตนปกครอง ไม่รู้จักการใช้จารชนให้เป็นประโยชน์ แม้ในเรื่องของราษฎรภายใต้อำนาจของตัวเองก็ไม่รู้ ไม่มีความเฉลียวในเล่ห์ของทรชน ขาดความชำนิชาญในการตีวความสิ่งที่ปรากฎแม้ง่าย ๆ ที่กล่าวมานี้แล คือความบกพร่องอันควรนับว่าเป็นความผิดของพระราชากรรโณตบลโดยแท้ เวตาลผู้สิงอยู่ในศพเมื่อได้ฟังพระราชากล่าวดังนั้น ทราบว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่พระราชาได้ลืมคำสัญญาที่ว่าจะไม่พูดแล้ว จึงเป็นโอกาสอันดีที่ตนจะหนีไป เวตาลก็ผละจากไหล่ของพระราชาและอันตรธานหายไป ทำให้พระราชาตริวิกรมเสนต้องเสด็จเที่ยวติดตามเพื่อจับเอาตัวมาอีก

นิทานเวตาล

เป็นปีศาจชั่วร้ายพวกหนึ่ง ซึ่งหากินอยู่ในสุสาน และสิงสู่อยู่ในศพโดยทั่วไป ว่ากันถึงรูปร่างหน้าตาของเวตาล ในวรรณคดีของอินเดียภาคใต้กล่าวไว้ว่า เวตาลได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นภูตที่มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองดูและประชาชนในท้องถิ่น ตั้งแต่ที่ราบสูงเด็กข่าน เรื่อยลงมาทางภาคใต้ เวตาลมักจะปรากฎรูปร่างเป็นมนุษย์ แต่มือและเท้าหันกลับไปทางด้านหลัง นัยน์ตาเป็นสีลานแกมเขียว มีเส้นผมตั้งชันทั้งศีรษะ มือขวาถือไม้เท้า มือซ้ายถือหอยสังข์ ขณะเมื่อมาปรากฎตัวจะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีเขียวทั้งชุด นั่งมาบนเสลี่ยงบางคราวก็ขี่ม้า มีภูตบริวารถือคบเพลิงแวดล้อมโดยรอบ และส่งเสียงโห่ร้องกึกก้อง รูปเคารพของเวตาลที่ใช้เป็นรูปบูชามักทำด้วยหินทาสีแดง บนส่วนยอดของแท่งหินแกะสลักเป็นรูปหน้าคน
  โอม ขอชัยชนะจงมีแด่พระคเณศ พระผู้ซึ่งขณะฟ้อนรำได้ยังปวงดาราให้พรั่งพรูลงจากฟากฟ้าราวกับสายธารแห่งบุปผามาลัย ด้วยแรงลมเป่า จากปลายงวงของพระองค์แม้เพียงเล็กน้อย
  ณ ฝั่งแม่น้ำโคทาวรี มีพระมหานครแห่งหนึ่งตั้งอยู่นามว่า ประดิษฐาน ที่เมืองนี้ในสมัยบรรพกาลมีพระราชาธิบดีองค์หนึ่ง ทรงนามว่า ตริวิกรมเสน ได้ครองราไชศวรรย์มาด้วยความผาสุก พระองค์เป็นราชโอรสของพระเจ้าวิกรมเสนผู้ทรงเดชานุภาพเทียมท้าววัชรินทร์
ทุก ๆ วัน เมื่อพระราชาเสด็จออกว่าราชการ ณ ท้องพระโรงธารคำนัล จะมีนักบวชชื่อ ศานติศีล เข้ามาเฝ้าถวายความเคารพ แล้วถวายผลไม้ผลหนึ่งและทุก ๆวัน พระราชาก็ได้ประทานผลไม้นั้นแก่ขุนคลังผู้อยู่ใกล้ชิดให้เอาไปเก็บไว้ ด้วยประการฉะนี้แล กาลเวลาก็ผ่านไปนับสิบปี
อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อโยคีศานติศีลเข้ามาเฝ้าถวายผลไม้เช่นเคย แล้วทูลลากลับไป พระราชาทรงยื่นผลไม้นั้นแก่ลิงตัวหนึ่งซึ่งทรงเลี้ยงไว้ในตำหนัก และหนีคนเลี้ยงเข้ามาวิ่งเล่นอยู่ในท้องพระโรง ลิงรับผลไม้แล้วเอาเข้าปากขบกัด ทำให้เปลือกผลไม้ฉีกออก ทันใดนั้นเพชรมณีอันงามและมีค่าหามิได้ก็ร่วงตกลงมาเป็นประกายระยิบระยับ พระราชาทรงหยิบมณีเม็ดนั้นขึ้นมาพิจารณาและตรัสแก่โกศาธิบดีว่า
"นี่แนะขุนคลัง เจ้าจำได้ไหมว่าข้าเคยมอบผลไม้ของโยคีให้แก่เจ้าทุก ๆ วัน ป่านนี้ก็คงจะมีจำนวนมากโขอยู่ เจ้าเอาไปเก็บไว้ที่ไหนเล่า"
ได้ฟังรับสั่งดังนั้น ขุนคลังก็เกิดความตระหนกเป็นล้นพ้น อึกอักกราบทูลว่า "ข้าแต่มหิบาล ขอทรงอภัยด้วยเถิด ข้าพระบาทคิดว่าเป็นผลไม้ธรรมดาก็เลยไม่ได้เอาใจใส่ ได้รับมาครั้งใดก็โยนเข้าไปในหน้าต่างท้องพระคลัง ป่านนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ ข้าพระองค์ขอเปิดประตูคลังดูก่อน" โกศาธิบดีกราบทูลแล้วรีบวิ่งมาที่พระคลัง เปิดประตูออกดูภายในครู่หนึ่งก็รีบกลับมาทูลว่า
"โอ นฤบดี ผลไม้ดังกล่าวนั้นเปื่อยเน่าไปหมดแล้ว เหลือแต่เมล็ดคือ ดวงแก้วมณีกองเป็นภูเขาเลากาเต็มไปหมด ส่องแสงระยิบระยับไปทั้งห้องพระเจ้าข้า"
พระราชาได้ฟังดังนั้นก็ตรัสว่า
"สมบัติของข้าในท้องพระคลังก็มีมากมายเหลือที่จะคณานับ ข้าจะปรารถนาอะไรกับอนรรฆมณีเหล่านั้น ข้าขอมอบให้แก่เจ้าทั้งหมด จงเอาไปเถิด"
วันรุ่งขึ้น เมื่อเสด็จออกท้องพระโรง ทอดพระเตรเห็นโยคีศานติศีลเข้ามาเฝ้า จึงตรัสว่า
"ดูก่อนมุนี ท่านมาหาเราทุกวัน เอามณีจินดาค่าควรเมืองนับไม่ถ้วนมาให้แก่เรา ท่านมีความประสงค์อะไร จงบอกมาตามจริง ถ้าท่านยังไม่บอกเรา วันนี้เราก็จะไม่รับผลไม้จากท่าน"
โยคีได้ฟังก็ตอบว่า
"ข้าพเจ้ากำลังจะประกอบมหายัญพิธีอันสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้บุรุษสุดกล้าหาญอย่างท่านมาช่วยเหลือ ขอทรงเมตตาเถิด โอ ราชะ"
พระราชาได้ฟังก็ตรัสว่า
"ท่านโยคี ข้ายินดีจะช่วยเหลือท่านทุกอย่าง จะให้ทำอะไรก็บอกมาเถิด"
"โอ วิศามบดี ข้าพเจ้ายินดีนัก" โยคีศานติศีลกล่าว "ข้าพเจ้าจะรอพระองค์อยู่ที่สุสานนอกเมืองเมื่อถึงข้างแรมคืนแรกแห่งกาฬปักษ์ พระองค์จงมาพบข้าพเจ้าในเวลาค่ำที่บริเวณใต้ต้นไทรเถิด อย่าทรงลืมเป็นอันขาด"
พระราชาทรงยินยอม ตรัสว่า "เอาเถิด ข้าจะไปตามนัด"
โยคี เมื่อได้รับคำสัญญาของพระราชา ก็ทูลลากลับไปด้วยความยินดี
ฝ่ายพระราชาผู้มหาวีระ ครั้นถึงวันแรมแรกก็เสด็จออกจากวัง ทรงแต่งพระองค์อย่างรัดกุม โพกพระเศียรด้วยผ้าสีดำ ทรงเลาะเร้นไปตามทางโดยไม่มีผู้พบเห็น จนกระทั่งบรรลุถึงสุสานนอกเมืองตามที่นัดหมาย บริเวณนั้นมืดด้วยเงาแมกไม้ ปรากฎเพียงตะคุ่ม ๆ ในที่สุดก็มาถึงที่ใกล้จิตกาธานอันสว่างวอมแวมด้วยไฟที่่เผาไหม้ซากอสุภอยู่ บางส่วนก็เหลือเพียงโครงกระดูกและกะโหลกศีรษะเรี่ยรายอยู่ ทำให้เกิดความสะพรึงกลัวแก่ผู้ได้พบเห็นยิ่งนัก ณ ที่นั้นมีพวกภูตและเหล่าเวตาลลอยอยู่เกลื่อน บ้างก็ยื้อแย่งกินศพอันชวนให้สะอิดสะเอียนเหียนราก เสียงหมาไนหอนโหยหวนอยู่ในที่ใกล้เคียงเหมือนเสียงปีศาจมาหลอกหลอน รวมแล้วความสยดสยองทั้งหลายที่ปรากฎก็เป็นประดุจการมาเยือนของพระไภรวะ (พระศิวะหรือพระอิศวร ปางดุร้าย) นั่นเทียว
จากนั้นพระราชาทรงค้นหาสำนักของโยคีศานติศีลจนพบที่ใต้ต้นไทรใหญ่ อันมีรากย้อยระย้า จึงเสด็จเข้าไปหา ตรัสว่า
"ข้ามาแล้ว ท่านโยคีจะให้ข้าทำอะไรเล่า"
เมื่อโยคีเห็นพระราชาเสด็จมาตามสัญญาก็ดีใจ กล่าวว่า
"โอ ราชะ ข้าพเจ้าเห็นแล้วจากพระเนตรของพระองค์ว่า ทรงมีเมตตาต่อข้าพเจ้า ทรงฟังเถิด ถ้าพระองค์เสด็จจากนี่ไปทางทิศใต้ไม่ไกลนัก จะทรงพบต้นอโศกต้นหนึ่ง บนกิ่งอโศกมีศพชายคนหนึ่งแขวนอยู่ ขอให้นำศพนั้นมาให้ข้าพเจ้า นั่นแหละคืองานที่ข้าพเจ้าต้องการจะให้พระองค์ช่วยเหลือ โอ มหาวีระ"
ทันทีที่วีรกษัตริย์ผู้มั่นคงต่อคำสัญญาได้ยินถ้อยคำดังกล่าว ก็ทรงกล่าวแก่โยคีว่า "ข้าจะทำตามคำของท่าน" แล้วเสด็จไปทางทิศใต้ ครู่หนึ่งก็มาถึงที่อันอยู่ไม่ไกลจากกองไฟที่ใกล้จะมอด แลเห็นต้นอโศกอยู่บริเวณนั้น บนกิ่งอโศกมีศพชายผู้หนึ่งแขวนอยู่ราวกับห้อยลงมาจากบ่าของอสุรกาย พระราชาทรงปีนต้นอโศกขึ้นไปปลดเอาศพลงมาอย่างยากเย็นและเหวี่ยงมันลงบนพื้นดิน ทันทีที่ร่างนั้นกระทบแผ่นดินมันก็หวีดร้องราวกับเจ็บปวดเต็มที่ พระราชาทรงคิดว่าร่างนั้นมีชีวิต ก็ปีนลงมาจากต้นอโศกเข้าประคองเอาไว้ ทรงนวดเฟ้นร่างนั้นด้วยความกรุณาเพื่อให้คลายเจ็บ ทันใดนั้นศพก็กรีดเสียงหัวเราะเยือกเย็นราวกับเสียงภูตผี พระราชาทรงทราบได้ทันทีว่าศพนั้นถูกเวตาลสิงอยู่ จึงถามมันว่า "เจ้าหัวเราะอะไร อย่ามัวชักช้าอยู่เลย รีบไปกันเถอะ" ทันใดนั้นเอง ศพที่เวตาลเข้าสิง ก็ลอยกลับขึ้นไปห้อยอยู่บนกิ่งอโศกตามเดิม พระราชาเห็นดังนั้น ก็รีบปีนขึ้นไปดึงเอาศพนั้นลงมาแล้วเหวี่ยงขึ้นบ่า เสด็จไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่เสด็จมาตามทาง เวตาลในร่างของศพที่พาดบ่าอยู่ก็กล่าวแก่พระราชาว่า
"โอ ราชัน ข้าจะเล่านิทานสนุก ๆ ให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง ระหว่างทางจะได้ไม่เบื่อ โปรดทรงสดับเถิด และเมื่อฟังแล้วอย่าได้ตรัสอะไรเลย"

นิทานเวตาล

เรื่องย่อนิทานเวตาล
ณ ฝั่งแม่น้ำโคทาวรี มีพระมหานครแห่งหนึ่งตั้งอยู่นามว่า ประดิษฐาน ที่เมืองนี้ในสมัยบรรพกาลมีพระราชาธิบดีองค์หนึ่ง ทรงนามว่า ตริวิกรมเสน ได้ครองราไชศวรรย์มาด้วยความผาสุก พระองค์เป็นราชโอรสของพระเจ้าวิกรมเสนผู้ทรงเดชานุภาพเทียมท้าววัชรินทร์
ต่อมาได้มีนักบวชชื่อ ศานติศีล ได้นำผลไม้มาถวายทุกวันมิได้ขาด ซึ่งพระราชาแปลกใจ และได้ไปพบในคืนหนึ่งตามนัด ได้ถามถึงเหตุผลและเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ โยคีศานติศีลจอมเจ้าเล่ห์ได้ขอให้พระราชาตริวิกรมเสนนำเวตาลมาให้ตนเพื่อจะประกอบมหายัญพิธี
พระราชาผู้มีสัจจะเป็นมั่น ได้ไปนำเวตาลมาให้โยคีเจ้าเล่ห์ แต่เวตาลก็พยายามหน่วงเหนี่ยวด้วยการเล่านิทานทั้งสิ้น ๒๔ เรื่องด้วยกัน ซึ่งแต่ละเรื่องจะมีคำถามให้พระราชาตอบ โดยมีข้อแม้ว่า หากพระราชาทราบคำตอบแล้วไม่ตอบ ศีรษะของพระราชาจะต้องหลุดจากบ่า และหากพระราชาเอ่ยปากพูดเวตาลก็จะกลับไปสู่ที่เดิม
และก็เป็นดังนั้นทุกครั้ง ที่พระราชาตอบคำถามของเวตาล เวตาลก็จะหายกลับไปสู่ต้นไม้ที่สิงที่เดิม พระราชาก็จะเสด็จกลับไปเอาตัวเวตาลทุกครั้งไป จนเรื่องสุดท้ายพระราชาไม่ทราบคำตอบ ก็ทรงเงียบไม่พูด เวตาลพอใจในตัวพระราชามาก เพราะเป็นพระราชาผู้ไม่ย่อท้อ ผู้มีความกล้าหาญ ทำให้เวตาลบอกความจริงในความคิดของโยคีเจ้าเล่ห์ ว่าโยคีนั้นแท้จริงแล้ว ต้องการตำแหน่งราชาแห่งวิทยาธร โดยจะเอาพระราชาเป็นเครื่องสังเวยในการทำพิธี และอธิบายถึงวิธีกำจัดโยคีเจ้าเล่ห์
เมื่อพระราชาเสด็จมาถึงโยคีตามที่นัดหมายไว้ ก็ปรากฎว่าโยคีได้เตรียมการทำอย่างที่เวตาลได้บอกกับพระราชาไว้ พระราชาจึงแก้โดยทำตามที่เวตาลได้อธิบายให้พระราชาฟัง พระราชาจึงได้ตำแหน่งราชาแห่งวิทยาธร และเวตาลได้บอกกับพระราชาตริวิกรมเสนว่า "ตำแหน่งนี้ได้มาเพราะความดีของพระองค์ ตำแหน่งนี้จะคอยพระองค์อยู่หลังจากที่ทรงเสวยสุขในโลกมนุษย์จนสิ้นอายุขัยแล้ว ข้าขอโทษในกาลที่แล้วมาในการที่ยั่วยวนประสาทพระองค์ แต่ก็ไม่ทรงถือโกรธต่อข้า บัดนี้ข้าจะถวายพรแก่พระองค์ ขอทรงเลือกอะไรก็ได้ตามใจปรารถนาเถิด" พระราชาก็ตรัสว่า "เพราะเหตุที่เจ้ายินดีต่อข้า และข้าก็ยินดีในความมีน้ำใจของเจ้าเช่นเดียวกัน พรอันใดที่ข้าจะปรารถนาก็เป็นอันสมบูรณ์แล้ว ข้าเพียงแต่อยากจะขออะไรสักอย่างเป็นที่ระลึกระหว่างข้ากับเจ้า นั่นก็คือนิทานที่เจ้ายกปัญหามาถามข้าถึงยี่สิบสี่เรื่อง และคำตอบของข้าก็ให้ไปแล้วเช่นเดียวกัน แลครั้งที่ยี่สิบห้าคือวันนี้ถือเป็นบทสรุป แสดงอวสานของเรื่อง ขอให้นิทานชุดนี้จงมีเกียรติแพร่กำจายไปในโลกกว้าง”
เวตาลก็สนองตอบว่า “ขอจงสำเร็จ โอ ราชะ บัดนี้จงฟังเถิด ข้าจะกล่าวถึงคุณสมบัติที่ดีเด่นของนิทานชุดนี้ สร้อยนิทานอันร้อยรัดเข้าด้วยกันดังสร้อยมณีสายนี้ ประกอบด้วยยี่สิบสี่เรื่องเบื้องต้น แลมาถึงบทที่ยี่สิบห้า อันเป็นบทสรุปส่งท้าย นับเป็นปริโยสาน นิทานชุดนี้จงเป็นที่รู้จักกันในนามของเวตาลปัญจวิงศติ (นิทานยี่สิบห้าเรื่องของเวตาล) จงมีเกียรติยศบันลือไปในโลก และนำความเจริญมาสู่ผู้อ่านทุกคน ใครก็ตามที่อ่านหนังสือแม้แต่โศลกเดียว หรือเป็นผู้ฟังเขาอ่านก็เช่นเดียวกัน จักรอดจากคำสาปทั้งมวล บรรดาอมนุษย์ทั้งหลาย มียักษ์ เวตาล กุษมาณฑ์ แม่มด หมอผีและรากษส ตลอดจนสัตว์โลกประเภทเดียวกันนี้ จงสิ้นฤทธิ์เดชเมื่อได้ยินใครอ่านนิทาน อันศักดิ์สิทธิ์นี้”
พระศิวะได้ฟังเรื่องของต่าง ๆ ของเวตาลจบก็กล่าวชื่นชมในองค์พระราชาตริวิเสนมาก ซึ่งพระศิวะได้สร้างจากอนุภาคโดยให้มาปราบอสูรคนร้ายต่าง ๆ เมื่อพระราชาตริวิกรมเสนได้เป็นจอมราชันแห่งวิทยาธรทั้งโลกและสวรรค์แล้ว ก็เกิดความเบื่อหน่าย หันไปบำเพ็ญทางธรรมจนบรรลุความหลุดพ้น

วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

บทเห่ชมปลา

เจ้าฟ้าธรรมมาธิเบศ (เจ้าฟ้ากุ้ง)


บทเห่ชมปลา



โคลง

พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คลึงกัน
ถวิลสุดาดวงจันทร์ แจ่มหน้า
มัตสยาย่อมพัวพัน พิศวาส
ควรฤพรากน้องช้า ชวดเคล้าคลึงชม

กาพย์

พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์
มัตสยายังรู้ชม สมสาใจไม่พามา

นวลจันทร์เป็นนวลจริง เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา
คางเบือนเบือนหน้ามา ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย

เพียนทองงาทดังทอง ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย
กระแหแหห่างชาย ดั่งสายสวาทคลาดจากสม

แก้มช้ำช้ำใครต้อง อันแก้มน้องช้ำเพราะชม
ปลาทุกทุกข์อกตรม เหมือนทุกข์พี่ที่จากนาง

น้ำเงินคืเงินยวง ขาวพรายช่วงสีสำอาง
ไม่เทียบเปรียบโฉมนาง งามเรืองเรื่องเนื้อสองสี

ปลากรายว่ายเคียงคู่ เคล้ากันอยู่ดูงามดี
แต่นางห่างเหินพี่ เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร

หางไก่ว่ายแหวกว่าย หางไก่คล้ายไม่มีหงอน
คิดอนงค์องค์เอวอร ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร

ปลาสร้อยลอยล่องชล ว่ายเวียนวนปนกันไป
เหมือนสร้อยทรงทรามวัย ไม่เห็นเห็นเจ้าเศร้าบ่วาย

เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ เนื้อน้องฤๅอ่อนทั้งกาย
ใครต้องข้องจิตชาย ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง

ปลาเสือเหลือที่ตา เลื่อมแหลมกว่าปลาทั้งปวง
เหมือนตาสุดาดวง ดูแหลมล้ำขำเพราคม

แมลงภู่คู่เคียงว่าย เห็นคล้ายคล้ายน่าเชยชม
คิดความยามเมื่อสม สนิทเคล้าเจ้าเอวบาง

หวีเกศเพศชื่อปลา คิดสุดาอ่าองค์นาง
หวีเกล้าเจ้าสระสาง เส้นเกศสลวยรวยกลิ่นหอม

ชะแวงแฝงฝังแนบ ชะวาดแอบแปบปนปลอม
เหมือนพี่แอบแนบถนอม จอมสวาทนาฏบังอร

พิศดูหมู่มัจฉา ว่ายแหวกมาในสาคร
คะนึงนุชสุดสายสมร มาด้วยพี่จะดีใจ



๒. เวลาสาย บทเห่ชมปลา


เป็นการพรรณนาถึงชื่อปลาซึ่งมีชื่อปลาต่างๆกัน และได้พรรณนาปลาทั้งหมด 17 ชนิด ในการพรรณนานี้ก็ได้เปรียบปลาเหมือนนางอันเป็นที่รัก มีการอุปมาอุปมัยได้ชัดเจน โดยมีการนำชื่อปลาเหล่านี้มาเชื่อมโยงกับความรู้สึกของกวีที่มีความรักมั่นคงต่อนางผู้เป็นที่รักทั้งความรู้สึกรักใคร่ เป็นห่วงนางผู้เป็นที่รักโดยมีชื่อปลาดังกล่าวคือ ปลาแก้มช้ำ ปลาน้ำเงิน ปลากราย ปลาหางไก่ ปลาสร้อย ปลาเนื้ออ่อน ปลาเสือ ปลาหวีเกศ ปลาแปบ ปลาชะวาด ปลาชะแวง ปลานวลจันทร์ ปลาคางเบือน ปลากระแห ปลาตะเพียน ปลาเคล้าดำปลานวลจันทร์

วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

อุทยานแ่ห่งชาติใต้ร่มเย็น

อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติปากคลองน้ำเฒ่า อำเภอบ้านนาสาร อำเภอกาญจนดิษฐ์ และอำเภอเวียงสระ มีเนื้อที่ 265,625 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2534 เป็นป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ยาง ตะเคียน หลุมพอ เสียดช่อ เคี่ยม และสะตอ
บริเวณยอดเขาที่มีเมฆหมอกปกคลุมเกือบตลอดปี จะพบป่าอีกชนิดหนึ่ง คือ ป่าดิบเขา พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เหมือด กำยาน บังตาน เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำตาปี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหินอัคนี ที่เกิดจากการยกตัวและระเบิดของภูเขาไฟ อุทยานฯ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมมี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน และฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม
สัตว์ป่าที่พบ ได้แก่ เลียงผา เก้ง กระจง หมูป่า ช้าง สมเสร็จ และเสือโคร่ง นอกจากนั้นยังมี ค่าย 180 และค่าย 357 ซึ่งเป็นค่ายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต
สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ
น้ำตกดาดฟ้า เป็นน้ำตกที่สูงใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มี 10 ชั้น ชั้นสูงสุดเป็นหน้าผาสูงชัน 80 เมตร ในฤดูฝนน้ำจะไหลแรงเต็มหน้าผาราวกับไหลลงมาจากฟากฟ้า จึงได้ชื่อว่า “ดาดฟ้า” และยังเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 15 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดิน 2 วัน ต้องพักค้างแรมในป่า 1 คืน โดยเริ่มจากเขาหนามเตย จนมาถึงน้ำตกดาดฟ้า
การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 4009 สายอำเภอบ้านนาสาร-สุราษฎร์ธานี ห่างจากตัวเมือง 33 กิโลเมตร จะมีทางแยกเลี้ยวเข้าถนน รพช. เข้าสู่น้ำตกประมาณ 13 กิโลเมตร
น้ำตกเหมืองทวด เป็นน้ำตกสูง 7 ชั้น บริเวณน้ำตกร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่
การเดินทาง สามารถเดินทางจากอำเภอ บ้านนาสาร โดยเริ่มจากอำเภอบ้านนาสารไปตามทางหลวงแผ่นดินสายนาสาร-บ้านส้อง ประมาณ 12 กิโลเมตร แล้วแยกไปตามถนนบ้านช่องช้าง-เหมืองทวด ประมาณ 8 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางเป็นถนนลาดยาง
เขาหนอง เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี สูง 1,530 เมตร มีเมฆหมอกปกคลุมยอดเขาและสภาพอากาศเย็นชื้นตลอดปี พันธุ์ไม้เป็นป่าดิบเขามีมอสและตะไคร่น้ำเกาะตามลำต้นอย่างหนาแน่น
ถ้ำขมิ้น หรือ ถ้ำเหม็น ที่มีชื่อเรียกเช่นนี้เพราะมีมูลค้างคาวที่อาศัยอยู่จำนวนมากภายในถ้ำ เป็นถ้ำที่เป็นจุดท่องเที่ยวเด่นของอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ถ้ำนี้เป็นถ้ำหินปูนที่กว้างใหญ่ ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในถ้ำนอกจากจะได้ชมความงามของหินงอกหินย้อยแล้ว จะได้พบกับ ศาลท่านขุน ที่ปากถ้ำซึ่งเป็นที่เคารพของชาวบ้าน ลานรถจี๊ป เป็นห้องใหญ่ที่มีร่องรอยของรถจี๊ปในสมัยที่มีการทำสัมปทานมูลค้างคาว
ลานท่านขุน เป็นทำนบหินปูน มีหินงอกหินย้อยขนาดใหญ่ เรียกว่า “เสาเอก” และ “หลักชัย” ช่องฟ้า เป็นช่องที่ทะลุเพดานถ้ำได้ ม่านสีชมพู เป็นม่านหินปูนที่มีลวดลายเป็นริ้ว ๆ สีชมพู มองดูเป็นภาพพระพุทธรูปปางสมาธิ ม่านฟ้า เป็นม่านหินย้อยขนาดใหญ่ บางจุดดูคล้ายเศียรช้าง และบริเวณถ้ำขมิ้นสามารถกางเต็นท์ได้ โดยติดต่อล่วงหน้าที่ หัวหน้าหน่วยใต้ร่มเย็น (ถ้ำขมิ้น) โทร. 0 1476 1759, 0 1272 4411
สันเย็น เป็นแนวสันเขา มองจากระยะไกลจะเห็นแนวเขาเรียบเสมอเป็นทิวยาว สูงประมาณ 1,000–1,300 เมตร มีสัตว์ป่าและพันธุ์พืชหลายชนิดที่ไม่สามารถพบเห็นตามป่าเบื้องล่าง
อุทยานฯ มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจที่อยู่ในอำเภออื่นๆ อาทิ อำเภอเวียงสระ มี น้ำตกสามห้าเจ็ด เป็นน้ำตกสูง 25 เมตร มีน้ำตลอดปี น้ำตกคลองน้ำเฒ่า มี 2 ชั้น ชั้นที่ 2 มีน้ำไหลลาดลงมาเป็นสามสายดูสวยงาม สูง 35 เมตร น้ำตกคลองคันเบ็ด มี 7 ชั้น ส่วนในอำเภอกาญจนดิษฐ์ มี น้ำตกเพชรพนมวัฒน์ เป็นน้ำตกสวยสูง 30 เมตร และเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเขาหนามเตย ระยะทาง 1,900 เมตร ใช้เวลาเดินเกือบ 2 ชั่วโมง โดยเริ่มจากศาลาทรงงานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ภายในโครงการจุฬาภรณ์ และสิ้นสุดที่ค่ายพักแรมจุฬาภรณ์ เส้นทางนี้จะศึกษาเกี่ยวกับระบบนิเวศของป่าดิบชื้น ซึ่งเป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด
อุทยานฯ มีบ้านพักบริการนักท่องเที่ยว จำนวน 2 หลัง ราคา 1,500 บาท และมีสถานที่กางเต็นท์ แต่ต้องเตรียมอุปกรณ์การพักแรมไปเอง รายละเอียดสอบถามได้ที่ อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ตู้ ปณ.12 อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84000 โทร. 0 7734 4633 หรืองานบริการบ้านพัก กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760
การเดินทาง จากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ไปตามทางหลวงหมายเลข 4009 สายสุราษฎร์ธานี-บ้านนาสาร ระยะทาง 30 กิโลเมตร ถึงบ้านเฉียงพร้า ตรงข้ามโรงเรียนควนสุบรรณ เลี้ยวซ้ายไปตามถนน รพช. อีก 15 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

โองการแช่งน้ำ

โองการแช่งน้ำ
โองการ แปลว่า คำศักดิ์สิทธิ์ คำประกาศของกษัตริย์ สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า โอมการ หมายถึง อักษรโอม โอม คือคำย่อ ที่ใช้กล่าวนำในการสวดของพราหมณ์ ย่อมาจาก อ. อุ. ม. (อ่านว่า อะ - อุ - มะ)
อ. หมายถึงพระศิวะหรือพระอิศวร
อุ. หมายถึงพระวิษณุหรือพระนารายณ์
ม. หมายถึงพระพรหม
ประกาศแช่งน้ำเป็นโองการที่พราหมณ์ใช้อ่านหรือสวดในพิธีศรีสัจจปานกาลหรือพิธีถือน้ำพระพิพัทธ์สัตยา คำว่า พัทธ น่าจะมาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ผูกมัด และคำว่า สัตยา น่าจะได้จากคำว่า สัตฺยปาน ในภาษาสันสกฤต แปลว่า น้ำสัตยสาบาน (สัจจปานเป็นรูปบาลี) ต่อมาคำว่า พิพัทธ์สัตยา เปลี่ยนไปเป็น พิพัฒน์สัตยา
พิธีดื่มน้ำหรือถือน้ำสาบานถือเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ กระทำต่อกษัตริย์ เพื่อแสดงความจงรักภักดี ไทยได้แบบอย่าง มาจากขอม ซึ่งรับมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง พิธีกรรมที่ทำคือทำพิธีให้น้ำศักดิ์สิทธิ์ (น้ำพิพัฒน์สัตยา) แล้วนำน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้มาตั้งในพิธี แทงอาวุธลงในน้ำ ให้บรรดาผู้ที่ทำพิธีดื่มน้ำสาบานตน
ผู้ที่ถือน้ำในพิธีดื่มน้ำสาบานได้แก่ข้าราชการประจำ ศัตรูที่เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทหารที่ถืออาวุธ การถือน้ำ ของข้าราชการประจำทำปีละ ๒ ครั้ง คือในเดือนห้า ขึ้น ๓ ค่ำ และในเดือนสิบ แรม ๑๓ ค่ำ พิธีนี้กระทำต่อกันมาจนถึงพ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย
โองการแช่งน้ำจัดได้ว่าเป็นวรรณคดีประเภทร้อยกรองที่เก่าแก่ที่สุด สันนิษฐานว่าแต่งในสมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) โดยดูจากคำว่า "สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิศรราช" ที่ปรากฏในตอนท้ายเรื่อง ๒ แห่ง พระนามนี้คล้ายกับพระนามเต็มของ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ว่า "สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์" และยังคล้ายกับพระนามที่ปรากฏ ในกฎหมายตราสามดวง เมื่อกล่าวถึงกฎหมาย "พีสูทดำน้ำพีสูทลุยเพลิง" พ.ศ. ๑๘๙๙ ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ว่า "พระบาทสมเดจ์พระเจ้ารามาธิบดี ศรีสินทรบรมจักรพรรดิศรบวรธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า"
เนื้อเรื่องเริ่มด้วยการสรรเสริญเทพเจ้าทั้งสาม คือพระนารายณ์ พระอิศวร และพระพรหม กล่าวถึงเหตุการณ์ ไฟล้างโลก น้ำท่วมโลก การสร้างโลก การเลือกผู้มีอำนาจมากเป็นพระราชา เรียกว่าสมมติราชา กล่าวสาปแช่ง ผู้ทรยศพระเจ้าแผ่นดิน และสรรเสริญ ผู้ที่จงรักภักดี
คำประพันธ์ที่ใช้คือโคลงกับร่าย (ลิลิต) โคลงในวรรณคดีเรื่องนี้เป็น (กล)โคลงสี่ดั้น เวลาอ่านต้องถอดกลโคลง เพื่อให้ออกมาในรูปโคลงสี่ เช่น

นานาอเนกน้าว
เดิมกัลป์
จักร่ำจักราพาฬ
เมื่อไหม้
กล่าวถึงตระวันเจ็ด
อันพลุ่ง
อันพลุ่งน้ำแล้งไข้
ขอดหาย
กล่าวถึงน้ำฟ้าฟาด
ฟองหาว
ฟองหาวดับเดโช
ฉ่ำหล้า
ฉ่ำหล้าปลาดินดาว
เดือนแอ่น
เดือนแอ่นลมกล้าป่วน
ไปมา
สำนวนภาษาในโองการแช่งน้ำเก่ากว่าภาษาในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ในยุคเดียวกัน เช่นยวนพ่าย ส่วนใหญ่ใช้คำไทยโบราณ เช่นเรียกเขาพระสุเมรุว่า ผาหลวง เรียกเขาไกรลาสว่า ผาเผือก เรียกเขาคันธมาทน์ว่า ผาหอมหวาน มีข้อความสาปแช่งตามความเชื่อ แบบไทยเก่าๆ เช่น ให้ตายในสามวัน อย่าให้ทันในสามเดือน อย่าให้เคลื่อนในสามปี
โองการแช่งน้ำเป็นวรรณคดีที่นำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองการปกครอง ทำให้เห็นวิธีการประกาศฐานะ และอำนาจของกษัตริย์ สำนวนภาษาไทยที่เก่าแก่นั้น อาจเป็นเพราะ ได้นำโองการของเก่ามาปรับปรุงใช้ใหม่ เพราะพระเจ้าอู่ทอง ทรงปกครองสุพรรณภูมิ หรือสุพรรณบุรีมาก่อนที่จะทรงตั้งตนเป็นกษัตริย์องค์แรก แห่งกรุงศรีอยุธยา เรื่องนี้ยังชี้ให้เห็นถึง ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา และความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของคำสาปแช่ง ซึ่งฝังแน่นในจิตใจคนไทยมาช้านาน
ถอดคำประพันธ์
โอม ขอความสำเร็จจงมีด้วยอานุภาพของพระนารายณ์ ผู้ทรงสิริและแกล้วกล้า ซึ่งสถิตในสรวงสวรรค์ พระผู้พ้นจากความตาย ประทับเหนืออาสนะ คือ งู ทรงมีอำนาจครอบงำทั้งฟ้าทั้งดิน ทรงครุฑเป็นพาหนะ พระกรทั้งสี่ถืออาวุธสี่อย่าง คือ สังข์ จักร คทา และธรณี (คือดอกบัว) ทรงแบ่งภาคมาเกิดเป็นผู้ที่น่ากลัวเพื่อปราบอสูร และทรงใช้อคนิบาต (คือ สายฟ้า) ทำให้อสูรแหลกลาญ (ในพิธี พราหมณ์จะแทงพระแสงศรปลัยวาต)
โอม พระผู้เป็นใหญ่สูงสุด คือพระอิศวรหรือพระศิวะ พระผู้ประทับอยู่บนเขาใหญ่ คือเขาไกรลาส อย่างสง่างาม ประทับบนหลังวัวเผือก ทรงเอาพญานาค ทำเป็นสังวาลคล้องพระอังสา เอาพระจันทร์มาเสียบบนพระเมาลี(มวยผม)เป็นปิ่น ทรงมีพระเมาลีใหญ่ มีพระเนตรสามองค์ที่งดงาม ทรงกวัดแกว่งวชิราวุธที่มีฤทธิ์ ทรงกำจัดหรือทำลายอุปสรรคความไม่เป็นมงคล ให้หมดไป (ในพิธี พราหมณ์จะแทงพระแสงศรอคนิวาต)
(มีความสับสนในการบรรยายว่า สายฟ้า ซึ่งเป็นอาวุธของพระอินทร์ เป็นอาวุธของพระอิศวร พระอิศวรมีอาวุธเรียกว่า ตรีศูล คือสามง่าม หรือหอกสามแฉก)
โอม ขอชัยชนะจงมีแด่พระพรหม พระผู้เผยความรู้เรื่องพรหมสิบหกชั้นฟ้า ทรงมีพระเศียรแผ่ออกไปโดยรอบ ประทับเหนือดอกบัวทองอันบานแล้ว ทรงพญาหงส์เหาะไป ทรงสร้างดินและฟ้า คือโลก ทรงมีสี่พักตร์ที่ผินไปในแต่ละทิศ ทรงมีความเป็นเพื่อน ทรงกระทำงานอันยิ่งใหญ่ คือสร้างโลกทั้งสาม ทรงเป็นผู้ไม่ตาย และเป็นใหญ่ในโลกทั้งสาม ทรงมีศักดิ์ คืออำนาจในโลกทั้งสาม ทรงเป็นใหญ่สูงสุดและเป็นผู้มีญาณวิเศษ ทรงไว้ซึ่งความสำเร็จที่เกรียงไกร ทรงครองจักรวาลมาช้านาน ทรงมีภาระอันเป็นบุญยิ่งใหญ่เป็นองค์แรก ทรงสร้างโลกมาก่อนแล้วไม่รู้กี่ร้อยครั้ง (ในพิธี พราหมณ์จะแทงพระแสงศรพรหมาสตร์)
เท้าความย้อนไปถึงยุคเดิมที่ผ่านมามากมายหลายยุค จะกล่าวถึงเมื่อจักรวาลถูกไฟไหม้ กล่าวถึง ดวงอาทิตย์เจ็ดดวง ขึ้นมาในท้องฟ้า (หรือดวงอาทิตย์เจ็ดดวงทำให้น้ำเดือด) น้ำงวดแห้งหายไป
น้ำมันของปลาเจ็ดตัวพุ่งขึ้น ทำให้โลกลุกเป็นไฟ ไฟไหม้อบายภูมิทั้งสี่พินาศไป ทำให้สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กลายเป็นเถ้าถ่าน แต่ไฟไม่ไหม้เลยไปถึงรูปพรหมชั้นที่สี่ (หรือไฟไหม้แผ่ไปทั้งสี่ทาง)
ผู้ที่ได้ฌานสามารถไปเกิดในพรหมโลก รวมทั้งเทพจำนวนมาก ขึ้นไปเบียดเสียดบนสวรรค์ ราวกับเม็ดแป้ง สลอนเต็มสวรรค์ชั้นสุทธาวาสนั้น ฟ้าสว่างอยู่จนกระทั่งไฟดับลง
กล่าวถึงน้ำฝนตกลงมาเป็นระลอกคลื่นเต็มท้องฟ้า ดับไฟจนชุ่มฉ่ำไปทั้งโลก ปลา ดิน ดาว และเดือน เคลื่อนหายไปอย่างรวดเร็ว ลมบรรลัยกัลป์พัดปั่นป่วนอย่างแรง
เมื่อพระพรหมทอดสายตามองไป ก็เกิดเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นที่อยู่ของพระอินทร์ขึ้น พระพรหม ได้สร้างสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ขึ้นก่อนที่จะเนรมิตสถานที่อื่นๆ พระพรหมได้พิจารณาดูสถานที่ต่างๆ ที่เคยมีสวรรค์ชั้นต่างๆ ตั้งอยู่ แล้วสร้างสวรรค์ทุกชั้นทุกแห่งให้กลับคืนมาดังเดิม
พระพรหมมองไปด้วยพระเดชานุภาพ เกิดเป็นทวีปทั้งสี่ขึ้น เกิดเป็นเขาพระสุเมรุ อันเป็นภูเขาใหญ่ที่สุดในจักรวาล และเป็นภูเขาสีทอง ซึ่งมีวิมานของพระอินทร์ อันสว่างสุกใสอยู่บนยอดเขา พระพรหมทรงสร้างเขาสัตบริภัณฑ์ ซึ่งงดงาม ประดุจสร้อยประดับท้องฟ้าขึ้น
พระพรหมทรงสร้างเขาไกรลาส เขาพระสุเมรุ และเขาคันธมาทน์ขึ้น กลิ่นง้วนดินหอม โชยขึ้นไปข้างบน จนถึงพรหมโลก ทำให้เหล่าพระพรหมใคร่จะได้ชิมง้วนดินนั้น จึงพากันเหาะลอยลงมายังโลกมนุษย์
ร่างพระพรหมที่พากันเหาะมานั้นส่องสว่าง เพราะมีรัศมีออกจากกาย ในเวลานั้น ยังไม่มีการแบ่งเวลา เป็นกลางวัน กลางคืน อาศัยแสงรัศมีที่ส่องจากกายพระพรหมเท่านั้น ที่ให้ความสว่างแก่โลก ครั้นพระพรหมพากันชิมง้วนดิน แสงสว่างจากกายก็หายไป ทั่วทั้งโลกมืดมิดราวกับดับไต้
เหล่าพระพรหมพยายามส่องตามองฝ่าความมืดไป แล้วอ้อนวอนขอแสงสว่างจากพระพรหมผู้สร้างโลก พระพรหมจึงประทานดวงอาทิตย์เพื่อให้แสงสว่างแก่โลก ทั้งยังประทานดวงจันทร์และดวงดาวด้วย ทำให้โลกสุกสว่าง เห็นฟ้าและแผ่นดิน
จากนั้นมาจึงเกิดมีเวลากลางวันกลางคืน พระพรหมที่มาอยู่ยังโลกมนุษย์กินข้าวสาลีที่ไม่มีเปลือกเป็นอาหาร และอยู่กันอย่างสงบสุข คือเสมอกัน ไม่มีทั้งฝ่ายที่รับบรรณาการและฝ่ายที่ต้องจัดส่งบรรณาการ
คนทั้งหลายพากันเลือกผู้มียศสูงสุดหรือมีอำนาจมากเป็นพระราชา เรียกว่า สมมติราชา แล้วพระสมมติราชา ก็แต่งตั้งพระราชาองค์อื่นๆ ให้ปกครองดินแดนทั้งหลาย
พระสมมติราชาผู้กล้าหาญได้รับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์พระองค์แรกตั้งแต่ตอนต้นกัลป์ และเชื้อสายของพระองค์ ก็ปกครองโลกสืบกันต่อมา ในคราวแต่งตั้งพระสมมติราชานั้นมีการเชิญผี คือเทพยดามาร่วมในพระราชพิธีแช่งน้ำที่จัดขึ้นในวันเสาร์ วันอังคาร หรือวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันแข็ง
ในพิธีถือน้ำ ได้อัญเชิญพระกรรมบดีปู่เจ้าผู้เป็นเทพแห่งการคล้องช้างมาร่วมในพิธี พระกรรมบดีได้เหาะมาเป็นแขก ในพิธี ในการประกอบพิธีมีการนำเชือกบาศที่ใช้คล้องช้างมาวางไว้ในขันที่มีพานรอง และมีการตั้งขวัญข้าว และธูปเทียน
ในบาตรน้ำมนตร์มีการแทงเหล็กกล้า คืออาวุธ หญ้าแพรกที่แหลมคม และใบมะตูม ขอเชิญพระภูมิเจ้าที่ ผู้ปกครองโลกมานาน และมีความเที่ยงธรรม มาร่วมในพิธี แล้วพราหมณ์ย่ำฆ้องถี่ๆ
ผู้ที่เอาใจออกหาก คิดทรยศพระเจ้าแผ่นดิน ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บันดาลให้ผู้นั้นถูกเอาตัวไปยมโลกโดยเร็ว ให้เห็นทันตา เมื่อคนที่คิดทรยศถือขันน้ำสาบานที่มีใบพลูสดใส่อยู่ ขอให้แน่นท้องขึ้นมาทันที
ขอเชิญพระยามารที่ไม่พอใจให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาร่วมในพิธี เพื่อสอดส่องหาคนที่คิดคดทรยศ ขอเชิญพระพุทธเจ้า ผู้มีกำลังทั้งสิบ พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้รู้ทางธรรมแต่เฉพาะพระองค์ มาช่วยสอดส่องดู ขอเชิญบรรดาพระสงฆ์ มาช่วยดู ขอเชิญพระผู้ทรงหงส์ทอง เป็นพาหนะ ผู้มีสี่เศียร คือพระพรหม มาช่วยดู ขอเชิญพระอินทร์ ผู้มีใจอันประเสริฐมาช่วยดู ขอเชิญท้าวจตุโลกบาล เทพเจ้าแห่งสวรรค์หกชั้น อากาศเทวดา ผู้นำไปอย่างรวดเร็ว และเทพเจ้าแห่งเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่าจนเรือนปลิว มาช่วยดู
ขอเชิญเทพยดาประจำเขาตรีกูฏ มาช่วยดู
ขอเชิญเทพยดาประจำเขากาฬกูฏ และพระอิศวรผู้เป็นใหญ่แห่งเขาไกรลาส มาช่วยดู
ขอเชิญพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่แห่งเขาพระสุเมรุ และเทพยดาประจำเขาจิตรกูฏ มาช่วยดู ขอเชิญผีพราย ผีสูงใหญ่ดำมืด มาช่วยดู
ขอให้พญายมราชตวัดสายตาอันคมดุจดาบ มาช่วยดู ขอให้พระพาย เทพแห่งลม พระพิรุณ เทพแห่งฝน ผู้ทำเสียงกึกก้องทั่วฟ้า มาช่วยดู ขอให้เทพผู้แกล้วกล้าและทรงนกยูงเป็นพาหนะ คือ พระสกันทกุมาร มาช่วยดู
ขอให้อสูรผู้มีสิบหน้า คือทศกัณฐ์ มาช่วยดู ขอให้แผ่นดินที่รองรับเขาที่เอานาคชักให้ตั้งตรงขึ้น (หมายถึง เขาพระสุเมรุ) มาช่วยดู
สิ่งใดดี สิ่งใดร้าย ให้ผู้เข้าร่วมในพิธีจำไว้ น้ำสาบานที่ไหลกรูเป็นเปลวไฟ ตัดคอคนคิดไม่ซื่อให้ขาดทันที ขอให้น้ำสาบานที่ตกถึงท้องคนคิดทรยศ กลายเป็นเหยี่ยวขนาดใหญ่ เจาะกระเพาะและท้องแยกออกเป็นหลายส่วน ขอให้ถูกเขี้ยวอันคมกริบราวกับดาบทำร้าย ขอให้ถูกทุณพี (สันนิษฐานว่าหมายถึงควายที่ชื่อทรพี ในเรื่องรามเกียรติ์) ตัวเปลี่ยวขวิด ขอเชิญรามสูรผู้ถือขวานเป็นอาวุธและลิ่วโลดไปในท้องฟ้า มาร่วมในพิธีด้วย
ถ้าไม่ซื่อตรงต่อคำสาบาน ขอให้น้ำสาบานตัดคอ ให้เอาไปใส่คุก ขอให้แร้งกามารุมจิกตาให้แตก ขอให้หมา หมี เสือ กัดให้ตาย
ไฟลุกไหม้แผ่ขยายไปทั่วท้องฟ้า (เคลือก น่าจะเป็นคำคู่กับ เคล้า)
ขอเชิญพระรามและพระลักษมณ์ผู้ติดตามนางสีดา ผู้ปราบพญานาคมาช่วยดู (ชวัก แปลว่า ชัก ตาม)
ขอให้เทพยดาอารักษ์ที่อยู่ประจำป่า ประจำถ้ำ ประจำภูเขา ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น เดินทางมาทั้งทางน้ำทางบก ขอเชิญเทวดาทั้งที่อยู่นอกเขตฟ้าเขตสวรรค์ และที่อยู่บริเวณฟ้าจรดดินมาร่วมในพิธี
ตกนอกขอกฟ้าแมน
อยู่นอกขอบฟ้าและสวรรค์
แดนฟ้าตั้งฟ้าต่อ
แดนที่ฟ้าและดินมาเชื่อมต่อกัน บริเวณฟ้าจรดดิน สวรรค์และโลกมนุษย์มาเชื่อมต่อกัน คนโบราณเชื่อว่า แต่เดิมคนและเทวดาไปมาหาสู่กันได้ ชาวโลกสามารถสร้างบันไดทองพาดขึ้นไปเมืองฟ้าได้
หล่อ
เคลื่อนลงจากที่สูง
ขอเชิญผีบรรพบุรุษ เจ้าป่า พระศรีพรหมรักษ์ยักษ์กุมาร ผีหลายบ้าน ผีหลายท่าน้ำ ผีห่า ผีเหวหรือผีทั้งหลายในป่าช้า ให้มาร่วมในพิธีนี้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าลมพายุ ขอเชิญผีที่มีหน้าใหญ่เท่าแผง มีอำนาจยิ่งใหญ่ และทำให้คนตกใจกลัว มาร่วมในพิธี
เหง้าภูติพนัสบดี
ผีบรรพบุรุษ เจ้าป่า
ศรีพรหมรักษ์ยักษ์กุมาร
บริวารของพระอิศวร
หน้าเท่าแผง
หน้าใหญ่ (แผง เป็นเครื่องกำบังชนิดหนึ่ง สานเป็นแผ่นๆ อย่างเสื่อลำแพน)
แรงไกยเอาขวัญ
มีอำนาจมาก ทำให้คนตกใจกลัว (ไกย น่าจะเป็นไกร แปลว่า ยิ่ง, เอาขวัญ แปลว่า ทำให้ตกใจ)
เยีย
ทำ
ชระแรง
แรง กำลัง พลัง อำนาจ
แฝงข่าว
แอบฟังความเป็นไปต่างๆ
ชรราง
ไม่กระจ่าง
รางชาง
เห็นชัด
สรคาน
สรคราญ งาม
อาน
กิน เซ่น ทำให้คม
มลิ้น
ลิ้น
ละลาย
ทำให้หายไป
พะพลุ่ง
พุ่งขึ้น
เกียจ
โกง
วาย
ตี
กระทู้
เสา
ควาน
กวาด
แควน
ลำบาก
เมื่อผีมาถึงก็ทำเสียงดัง แอบฟังความเป็นไปอย่างลับๆ บางตนดูดปากเสียงอึกทึก อวดเขี้ยวงาม แลบลิ้นทำให้คนตกใจ ผีฟ้าผีดินมากันไม่ขาดสาย มาสูบเอาตัวผู้ทรยศลงดินไป เอาไม้ตีกระหน่ำ มัดศอกให้ลำบาก เอาหอกแทงเท้าให้ดิ้นเร่าๆ จนยืนไม่ติดพื้น ให้ถลกหนังเท้า แต่อย่าให้ถึงตาย จนล้มหงายร้องครวญคราง แล้วให้ยมบาล มาลากตัวไปนรกอเวจี ถูกไฟนรกไหม้ดิ้นไปมา ผู้คิดไม่ซื่อ ขบถต่อสมเด็จพระรามาธิบดีผู้ครองกรุงศรีอยุธยา ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงมีอำนาจ บุญ คุณเป็นอันมาก เปรียบเหมือนคนที่มาอาศัยร่มเงาต้นไม้ แล้วยังบังอาจทำลายกิ่งไม้ ถอนต้นไม้นั้น ขอให้คนที่ทำบาปนี้ รวมทั้งญาติพวกพ้องต้องเดือดร้อน ใครชวนเพื่อนและคนทั้งหลายให้คิดขบถต่อพระเจ้าแผ่นดิน ขอให้เทวดา บันดาลให้คนเหล่านี้ตายในสามวัน อย่าให้พ้นในสามเดือน อย่าให้คลาดเคลื่อนในสามปี อย่าให้มีความสุข เมื่อกินข้าว ขอให้ข้าว กลายเป็นไฟเผาคนผู้นั้นจนตาย ไม่สามารถพึ่งน้ำจนตาย นอนในเรือนขอให้ร้องครวญครางจนตาย ให้นอนหงายตาค้างจนตาย นอนคว่ำจนตาย
ขอให้คนทรยศ ไปเกิดเป็นปล่องไฟที่ถูกไฟเผาตลอดเวลา ดื่มน้ำคลอง ให้น้ำกลายเป็นพิษ นอนในบ้าน ให้หญ้าคาที่มุงบ้าน เป็นดาบปลายงุ้มทำร้ายเอา ให้ฟ้าถล่มทับ แผ่นดินแยกสูบเอาชีวิตไป ให้อยากกินไฟเหมือนเมื่อพรหม อยากกินง้วนดิน (กลิ่นหอมของดินที่ถูกไฟเผา เรียกว่า ง้วนดิน, สี แปลว่า กิน, ลอง น่าจะเป็น ลลวง แปลว่า ซ้ำๆ)
กลอก
กลับ
ตาวงุ้ม
ดาบปลายงุ้ม
ขอให้ผู้ทรยศถูกจรเข้คาบไป ถูกเสือกัดกิน ถูกเขี้ยวเล็บและนอของหมีแรดทำร้าย ถูกหอก ศร ปักทั่วร่าง ให้ตายด้วยคมจอบ พิษงู ตายในลักษณะหน้าทิ่มดิน ขอให้เจ้าเมืองขึ้นทั้งหลายที่ทรยศ ไปขึ้นแก่เมืองอื่นๆ จงตายดังที่แช่งไว้ ส่วนผู้ที่กล้าหาญ สัตย์ซื่อ พระเจ้าแผ่นดินจะทรงประกาศอวยพร
แสนง
เสนง เสน่ง เขนง แปลว่า เขาสัตว์ ในที่นี้หมายถึง นอ
ขนาย
เขี้ยวหมู
ปืน
ศร
ลุ่มฟ้า
โลกมนุษย์)
นรินทร
ผู้เป็นใหญ่ ในที่นี้หมายถึง เจ้าเมืองขึ้น
กวิน
แกว่น กล้า
พระเจ้าแผ่นดินทรงมีอำนาจเต็ขนาดตัวอักษรมถึงสวรรค์เท่าเทวดา พระยศแผ่ไปทั้งสามโลก พระองค์พระราชทานขวัญ และกำลังใจ ให้ผู้ที่ซื่อสัตย์ จงรักภักดี ด้วยการพระราชทานเมือง ยศถาบรรดาศักดิ์ ช้างม้าวัวควาย แก้วแหวนเงินทอง เพิ่มความเจริญรุ่งเรืองให้เขาเหล่านั้นอีกมากมาย
อำมร
อมร เทวดา
ขอให้ผู้ที่สัตย์ซื่ออย่าได้มีอันตราย ให้คุณความดีแผ่กระจายไป เป็นสิริมงคลแก่วงศ์ตระกูล ได้รับพระราชทานผู้หญิง ควายที่มีทองประดับ ให้เทวดาและพระเจ้าแผ่นดินทรงรับรู้โดยเร็ว ให้ได้รับพระราชทานเงินทองเต็มเรือ ยศ
ขอให้ผู้ที่ซื่อสัตย์ถูกฉกตัวไปสู่สวรรค์หลังจากตาย ให้โลกทั้งสามดำรงอยู่
ขอเทวดาบันดาลให้ผู้ที่สัตย์ซื่อมียศสูงๆ ขึ้น และมีใจกล้าแข็งดังเพชร
ขอให้สมเด็จพระรามาธิบดีผู้ทรงปกครองแผ่นดินสืบมาทรงมีความสุข ขอให้ทรงนำความสุขสมบูรณ์มาให้แก่ประเทศยิ่งๆ ขึ้น
ไป

กาพเห่ชมกระบวน

เขียนโดยเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ (เจ้าฟ้ากุ้ง)

โคลง
ปางเสด็จประเวศด้าว ชลาลัย
ทรงรัตนพิมานชัย กิ่งแก้ว
พรั่งพร้อมพวกพลไกร แหนแห่
เรือกระบวนต้นแพร้ว เพริศพริ้งพายทอง

กาพย์
พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย พายอ่อนหยับจัลงามงอน
นาวาแน่นเป็นขนัด ล้วนรูปสัตว์แสนยากร
เรือริ้วทิวธงสลอน สาครลั่นครั่นครื้นฟอง
เรือครุฑยุดนาคหิ้ว ลิ้วลอยมาพาผันผยอง
พลพายกรายพายทอง ร้องโห่เห่โอ้เห่มา
สรมุขมุขสี่ด้าน เพียงพิมานผ่านเมฆา
ม่านกรองทองรจนา หลังคาแดงแย่งมังกร
สมรรถชัยไกรกาบแก้ว แสงแวววับจับสาคร
เรียบเรียงเคียงคู่จร ดั่งร่อนฟ้ามาแดนดิน
สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม
เรือชัยไวว่องวิ่ง รวดเร็วจริงยิ่งอย่างลม
เสียงเส้าเร้าระดม ห่มท้ายเยิ่นเดินคู่กัน
คชสีห์ที่ผาดเผ่น ดูดังเป็นเห็นขบขัน
ราชสีห์ที่ยืนยัน คั่นสองคู่ดูยิ่งยง
เรือม้าหน้ามุ่งน้ำ แล่นเฉื่อยฉ่ำลำระหง
เพียงม้าอาชาทรง องค์พระพายผายผันผยอง
เรือสิงห์วิ่งเผ่นโผน โจนตามคลื่นฝืนฝ่าฟอง
ดูยิ่งสิงห์ลำพอง เป็นแถวท่องล่องตามกัน
นาคาหน้าดังเป็น ดูเขม้นเห็นขบขัน
มังกรถอนพายพัน ทันแข่งหน้าวาสุกรี
เลียงผาง่าเท้าโผน เพียงโจนไปในวารี
นาวาหน้าอินทรี มีปีกเหมือนเลื่อนลอยโพยม
ดนตรีมี่อึงอล ก้องกาหลพลแห่โหม
โห่ฮึกครึกครื้นโครม โสมนัสชื่นรื่นเริงพล
กรีธาหมู่นาเวศ จากนคเรศโดยสาชล
เหิมหื่นชื่นกระมล ยลมัจฉาสารพันมี
๑.เวลาเช้าเห่ชมกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค พรรณนาถึงเรือพระที่นั่ง เช่น
สมรรถไชย ไกรสรมุข สุวรรณหงส์ เรือชัย เรือที่มีโขนหัวเรือเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น เรือครุฑยุดนาค เรือนาคา เรือม้า เรือวาสุกรี เรือคชสีห์ เรือราชสีห์ เรือมังกร เรือเลียงผา เรือนกอินทรีเป็นต้น
(เรือที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเรือที่มีลักษณะสวยงามที่สุด คือ เรือสุวรรณหงส์)

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

รำพันกวี



เสพศิลป์
ณ.คลองฉวาง
ในตอนบ่ายๆยามเมื่อเราเลิกงานมานั่งฝังเพลงผสานแสนสราญอุรา

มองไปที่กิ่งไม้เจ้ากระแตตัวน้อยนกกางเขนนั้นคอยร้องแจ้วๆเจรจา

หยิบกระดาษและสีมาวาดภาพเอาไว้หยุดโลกที่สดใสไว้ในงานแห่งศิลป์

ฮัมบทเพลงดีๆเพลงแห่งศิลปินโลกสดสวยแห่งศิลป์ สุขอื่นนั้นหรือจะมี

เจ้ากระแตกระโดดเปลี่ยนเกาะกิ้งไม้ดูคล่องเคล่วว่องไวและน่ารักดี

กิ้งกาชูคอมองด้วยความสงสัยกระรอกน้อยปีนป่ายต้นมะพร้าวหน้าบ้าน

นกนางแอ่นบินโฉบเล่นละอองฝนดูมันบินว่อนวนด้วยความสุขใจ

มองไปที่จอมปลวกแมงเม่าเสรีออกบินไปคืนนี้เพื่อจะไปเล่นไฟ

ดอกมะลินั้นหอมพร้อมส่งกลิ่นรวยรินพุดซ้อน จำปา นั้นปลูกไว้หน้าบ้าน

ธรรมชาติคือศิลป์แต่งแต้มความงดงามโลกสรรสร้างนิยามตามแนวทางแห่งศิลป์

เราทุกคนนั้นมีหัวใจแห่งศิลปินบทกวีพื้นถิ่นหรือว่าภาพสี

หนังตะลุงโนราห์หรือว่าหมอลำเพลงโคราชก็ตามล้วนแต่งานศิลป์

ลิเกลำตัดเพลงเรือลูกทุ่งท้องถิ่นเพลงสากลหรือว่าเพลงเพื่อชีวิต

จิตกรรมฝาผนังในวัดวาอารามนั้นทั้งหมดก็ตามแหละคืองานศิลป์

ประติมากรรมสวยๆลองได้ยลยินในทั่วทุกพื้นถิ่น ศิลปินมากมี

อย่าลืมเลือนจางหายหัวใจแห่งศิลป์นั้นขัดเกลาจิตใจให้ออนโยน

ลงได้เสพศิลปะดีไม่มีพิษภัยช่วยบมเพาะหัวใจให้มองโลกในแง่ดี

ความงดงามหลากหลายในงานศิลปะถามเธอหน่อยเถอะนะว่าเคยเสพกันไหม

มุมมองโลกดีๆในโลกนี้มีมากมายเปิดหัวใจเข้าไปในโลกแห่งศิลป์

เธอจะพบความงามหลากหลายมากมีทั้งคำกลอน กวี ดนตรีลายเส้น

ทุกสิ่งนั้นงดงามในโลกแห่งศิลป์ปลุกวิญญานศิลปินในตัวเธอนั้นที่มี

น้ำตกดาดฟ้า





น้ำตกดาดฟ้า อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนและป่าดิบชื้นที่ยังมีสภาพอุดมสมบูรณ์มาก มีพื้นที่ครอบคลุมบางส่วนของอำเภอบ้านนาสาร กาญจนดิษฐ์ และเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธารเกิดเป็นลำคลองสำคัญไหลสู่แม่น้ำตาปี เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เป็นภูเขาที่สูงที่สุดของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลักษณะทางกายภาพเช่นนี้ทำให้ภายในอุทยานอุดมไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม เช่นน้ำตก ถ้ำ ผา ลำธาร แม้หุบเหวและทิวเขาก็ยังมีมุมมองที่งดงามไม่แพ้กัน ครั้งหนึ่งบางส่วนของพื้นที่แห่งนี้ถูกใช้เป็นฐานในสงครามประชาชน ซึ่งยังมีหลักฐานปรากฏอยู่เช่น บังเกอร์ ค่ายพัก อุโมงค์ ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเหตูการณ์ในอดีต อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสความชุ่มฉ่ำจากธารน้ำและน้ำตก ได้สดชื่นจากความร่มรื่นของแมกไม้ตลอดเส้นทางเดินป่า ได้ความตื่นตาจากทิวทัศน์ที่สวยงาม ได้ความรู้ในด้านธรรมชาติวิทยาและประวัติศาสตร์ อย่างครบครัน

น้ำตกดาดฟ้า จ.สุราษฎร์ธานี : ระหว่างทางก็จะพบกับวิวทิวทัศน์ของภูเขาและทุ่งหญ้าครับ ได้อารมณ์ไปอีกแบบเสียดายที่ไม่ใช่หน้าทุเรียนนะครับจะได้ไปแฮ๊บทุเรียนแถวนี้ซักหน่อยเพราะสวนทุเรียนเยอะมากเลย

น้ำตกดาดฟ้า จ.สุราษฎร์ธานี : ไปเที่ยวน้ำตกดาดฟ้ามาครับกะว่าจะไปเที่ยวดูบรรยากาศว่ายังเหมือนเมื่อก่อนหรือปล่าวไปรอบที่แล้วยังเด็กอยู่ กล้องเกลิ้งก็ไม่มี แต่คราวนี้พก 350D พร้อมเลนส์SIGMA 18-200 ไปด้วยพร้อมหวังเล็กๆว่าจะมีรูปอะไรสวยๆติดไม้ติดมือกลับบ้านบ้าง

น้ำตกดาดฟ้า จ.สุราษฎร์ธานี : ตรงนี้ก็เป็นอีกมุมนึงก่อนขึ้นถึงชั้นสองครับ เฮ้อ เมื่อไหร่จะถึงเนี่ย

น้ำตกดาดฟ้า จ.สุราษฎร์ธานี : ธารน้ำเย็นมากๆเลยครับ นี้เป็นทางเดินขึ้นชั้นสองของน้ำตก จากทั้งหมด 8ชั้น วันนี้จะขึ้นถึงชั้นบนสุดที่มีชื่อว่า ชั้นดาดฟ้าหรือไม่ติดตามกันต่อไปครับ

น้ำตกดาดฟ้า จ.สุราษฎร์ธานี : น้ำตกค่อนข้างสูงครับเด็กๆชอบปีนขึ้นไปแล้วกระโดดลงมาเพื่อความสะใจอ่ะครับ สนุกดีครับแต่อันตราย ทางอุทยานก็เลยทำป้ายเตือนไว้

น้ำตกดาดฟ้า จ.สุราษฎร์ธานี : ธารน้ำเล็กๆ มองให้สวยก็สวยได้เนอะ ที่สำคัญที่นี่ปลาเยอะครับลองลงไปในแอ่งที่น้ำนิ่งๆ ดู รับรองว่ามันจะเข้ามาตอดกันสนุกเลยครับ

นี่ครับ อ่างจากุสชี่ธรรมชาติ นอนแช่น้ำสบายสุดๆครับ น้ำเย็นๆ ธรรมชาติสวยๆ มีปลาด้วย อิอิ ความสุขที่หาได้ใกล้ๆ นี่แหละครับ

น้ำตกดาดฟ้า จ.สุราษฎร์ธานี : อีกมุมหนึ่งบนชั้น 6 ครับ

น้ำตกดาดฟ้า จ.สุราษฎร์ธานี : พักอยู่ชั้น 6 นี่นานพอดูครับ ได้ชื่อว่าวังเย็นก็เย็นสมชื่อครับ คนน้อยสงบ เพราะส่วนใหญ่จะขี้เกียจขึ้นมาครับ จะไปจอดอยู่แค่ชั้น 3ส่วนความหวังว่าจะขึ้นไปถึงชั้น 8 ก็เริ่มเลือนลางครับเพราะแค่นี้ก็เริ่มขาลากแล้ว

น้ำตกดาดฟ้า จ.สุราษฎร์ธานี : ในที่สุดก็ขึ้นมาเรื่อยๆครับ ถึงชั้น 4 ซึ่งถือว่าทางขึ้นค่อนข้างโหดครับทั้งชันทั้งไกล เหนื่อยแต่สนุกครับ
การเดินทางไปยังน้ำตกดาดฟ้า
ทางรถยนต์ใช้เส้นทางตามทางหลวงหมายเลข 4009 ไปทางอำเภอบ้านนาสาร ถึงบ้านเฉียงพร้าซึ่งห่างจากตัวเมืองสุราษฎร์ฯประมาณ 30 กม.มีทางแยกเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงชนบท อีกประมาณ 15 กม.ถึงที่ทำการอุทยานและน้ำตกดาดฟ้าซึ่งอยู่ในท้องที่หมู่ 7 ตำบลลำพูน อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
กิจกรรมที่น่าสนใจในน้ำตกดาดฟ้า
เดินป่าสัมผัสธรรมชาติ
เล่นน้ำตก สนุกผ่อนคลายกับความเย็นฉ่ำของน้ำตกดาดฟ้า
ช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการมาท่องเที่ยวน้ำตกดาดฟ้า
ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเดินทางท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนธันวาคม-เมษาย
ค่าใช้จ่ายสำหรับการมาเที่ยวน้ำตกดาดฟ้า
ค่าเข้าอุทยาน
ผู้ใหญ่ คนละ 20 บาท
เด็ก คนละ 10 บาท
ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ไม่เสียค่าเข้าอุทยาน
คำแนะนำในการท่องเที่ยว
ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเดินทางท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนธันวาคม-เมษายน
ในอุทยานมีบริการที่พักและที่สำหรับกางเต็นท์/เต็นท์ ให้บริการนักท่องเที่ยว
ในโครงการจุฬาภรณ์พัฒนา 8 มีบ้านพักให้บริการนักท่องเที่ยว ติดต่อได้ที่ อบต.ลำพูน โทร.0 7734 4248
การท่องเที่ยวในอุทยานเป็นการท่องเที่ยวชมแศึกษาธรรมชาติซึ่งอาจจะต้องมีการเดินป่าทั้งระยะใกล้และไกล นั
ท่องเที่ยวควรเตรียมร่างกาย,เครื่องแต่งกาย พอสมควร เนื่องจากทางเดินขึ้นไปสูชั้นต่างๆของน้ำตกนั้นค่อนข้างที่จะชั้น และมีต้นไม้กิ่งไม้อยู่ตามระหว่างทาง ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้
หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ รย 5(ถ้ำขมิ้น) โทร.0 7734 4633
จองที่พักในอุทยานฯ โทร.0 2562 0760
จองที่พักในหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 8 โทร.0 7734 4218